ชมรมนักอ่าน

วันจันทร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ปัญหาที่ท้าทาย สุข


บทที่ 1
บทนำ

แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของโรคและปัญหาสุขภาพจากปัญหาโรคติดต่อหรือโรคติดเชื้อที่เป็นปัญหาหลักทางสุขภาพในอดีตมาเป็นโรคไม่ติดต่อและอุบัติเหตุมีแนวโน้มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องสาเหตุของกลุ่มโรคไม่ติดต่อมีลักษณะไม่ชัดเจนเหมือนกับสาเหตุของกลุ่มโรคติดต่อ ปัจจัยเสี่ยงของโรคไม่ติดต่อและอุบัติเหตุมีหลายอย่าง โดยมีความสัมพันธ์สูงกับพฤติกรรม  การพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม สิ่งแวดล้อม กฎหมาย วัฒนธรรม และวิถีชีวิตและคุณค่าในสังคม ประการสำคัญกลุ่มโรคไม่ติดต่อซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรคเรื้อรังมักจะนำไปสู่ภาวะทุพพลภาพและพิการในระยะยาว  การพัฒนาสุขภาพชุมชนหรือการสาธารณสุขเป็นวิทยาศาสตร์และศิลปะแห่งการป้องกันโรคจึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้ประชาชนที่อยู่รวมกันในชุมชนมีสภาพของร่างกายที่แข็งแรง สมบูรณ์ และอยู่ในสังคมที่ดี งานด้านสุขภาพชุมชนจะสำเร็จได้ด้วยการยอมรับและความร่วมมือของประชาชนในชุมชนทุกขั้นตอนของกิจกรรม รวมถึงการเปลี่ยนกระบวนการบริการสุขภาพจากตั้งรับไปสู่เชิงรุกมากขึ้นซึ่งไม่ได้หมายถึงมิติการบริการด้านการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค แต่หมายถึงการเข้าถึงผู้ป่วยโดยระบบบริการที่มุ่งเข้าสู่ชุมชน ถึงประตูบ้าน ถึงผู้ป่วยและครอบครัว ซึ่งการดำเนินงานจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานด้านสุขภาพ องค์กรท้องถิ่นและประชาชนในชุมชน

ระบบสุขภาพชุมชน
ระบบสุขภาพเป็นระบบความสัมพันธ์ทั้งมวลที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ โดยมีขอบเขตและความหมายที่กว้างขวางเกี่ยวข้องกับเหตุและปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลเกี่ยวข้องกระทบกับสุขภาพมากมายหลายด้าน ทั้งปัจจัยด้านบุคคล ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อม และปัจจัยด้านระบบบริการสุขภาพ
แนวคิดในการปรับปรุงพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศไทยมีพื้นฐานจากการคิดเชิงระบบ กล่าวคือ เป็นการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นขั้น เป็นตอนครอบคลุมปัจจัยที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน และมีการออกแบบโครงสร้างของระบบให้แต่ละส่วนมีบทบาทหน้าที่ที่ถูกต้องเหมาะสม และมีความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบต่าง ๆ อย่างเชื่อมโยง สอดคล้องสนับสนุนซึ่งกันและกันจากแนวคิดพื้นฐานดังกล่าวจึงได้กำหนดปรัชญา เจตนารมณ์ และแนวคิดสำคัญของระบบสุขภาพของประเทศไทยไว้ดังนี้
1.สุขภาพ คือ สุขภาวะที่สมบูรณ์และเชื่อมโยงกันเป็นองค์รวมอย่างสมดุลทั้งมิติทางกาย ทางจิต ทางสังคมและทางปัญญา สุขภาพมิได้หมายถึงเฉพาะความไม่พิการและการไม่มีโรคเท่านั้น
2.การมีสุขภาพที่ดีจึงถือเป็นเป้าหมายสูงสุดของชีวิตและสังคม สุขภาพดีจึงควรเป็นทั้งอุดมการณ์และเป็นหลักประกันความมั่นคงของชาติ
3.สุขภาพดีต้องเป็นไปเพื่อคนทั้งมวล และคนทั้งมวลต้องร่วมสร้างสุขภาพที่ดี
4.หลักการสร้างสุขภาพควรเป็นกระบวนการอย่างต่อเนื่อง เพื่อมุ่งพัฒนาศักยภาพบุคคล ชุมชนและสภาพแวดล้อม
5.การปฏิรูประบบสุขภาพ คือ การร่วมสร้างระบบสุขภาพที่พึงประสงค์ของสังคมไทยที่เป็นธรรมและตรวจสอบได้สอดคล้องกับภูมิปัญญาและวิถีชีวิตบนพื้นฐานการพึ่งตนเอง
การกำหนดคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของระบบสุขภาพช่วยทำให้การปฏิรูปของระบบสุขภาพของไทยมีเป้าหมาย ทิศทางการปรับเปลี่ยนระบบสุขภาพที่ชัดเจน เป็นรูปธรรม และกระตุ้นให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องสามารถนำเอาแนวคิดการปฏิรูประบบสุขภาพไปประยุกต์ปรับใช้ในการสร้างสรรค์สร้างระบบสุขภาพได้อย่างเหมาะสม ระบบสุขภาพที่พึงประสงค์ควรมีพื้นฐานความคิดของการเคารพในสิทธิพลเมือง โดยมีแนวคิดสำคัญในการจัดบริการสุขภาพให้แก่ประชาชนที่ต้องมิใช่การสงเคราะห์ แต่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐมีหน้าที่จัดให้มีการบริการสุขภาพที่จำเป็นอย่างครบถ้วน ทั่วถึง เป็นธรรม ได้มาตรฐาน มีคุณภาพเป็นที่พึงพอใจโดยเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคล รวมทั้งให้ความสำคัญกับการดูแลข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคลให้เป็นความลับส่วนบุคคล และมีการกำหนดอำนาจหน้าที่ ความรับผิดชอบของแต่ละฝ่ายไว้อย่างชัดเจน
เป้าหมายของระบบสุขภาพ คือ ผลลัพท์ที่มุ่งหวังต้องการให้บรรลุจากการพัฒนาระบบสุขภาพ ซึ่งเกิดขึ้นจากการจัดวางโครงสร้างและความสัมพันธ์ขององค์ประกอบ ระบบย่อยต่างๆ รวมทั้งการจัดการปัจจัยที่มีผลต่อสุขภาพให้มีความถูกต้อง เหมาะสม มีความสมบูรณ์ ครอบคลุม ครบถ้วนโดยมีนโยบายสาธารณะด้านสุขภาพและนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ ซึ่งมีกระบวนการกำหนดและผลักดันนโยบายแบบมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพอย่างกว้างขวาง มีการส่งเสริมให้ประชาชน ชุมชน และภาคีเครือข่ายสุขภาพเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทาง นโยบาย ยุทธศาสตร์การพัฒนาสุขภาพของประเทศ ซึ่งเป็นแนวทางดำเนินงานเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายวัตถุประสงค์ที่ต้องการ
สุขภาพชุมชน (Community Health)  หมายถึง การดูแลชุมชน รักษาชุมชนไม่ให้เป็นอันตรายต่อบุคคลที่อยู่ในชุมชนนั้นซึ่งเป็นหน้าที่ของคนทุกคนในชุมชน เป็นความรับผิดชอบร่วมกัน  ถ้าสุขภาพชุมชนดีก็จะทำให้คนในชุมชนมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคน้อยลงด้วย  พื้นฐานของการรักษาสุขภาพชุมชน คือการควบคุมสิ่งแวดล้อมถ้าสิ่งแวดล้อมถูกสุขลักษณะจะทำให้ประชาชนมีสุขภาพอนามัยดี   สุขภาพชุมชนจึงเป็นระบบร่วมของความเป็นสาธารณสุขและความเป็นชุมชนที่ต้องร่วมกัน สร้างสังคมที่อยู่เย็นเป็นสุขสร้างชุมชนที่มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างสุขภาวะ มีชีวิตอยู่อย่างห่างไกลโรคภัยไข้เจ็บที่ป้องกันได้ มีสุขภาพจิตที่เบิกบานแจ่มใส มีสังคมที่เกื้อกูลกัน และมีสุขภาวะทางจิตวิญญาณที่หนุนเสริมการมีคุณธรรม    และอยู่ในวิถีของการเป็นศาสนิกชนที่ดี ดังนั้นสุขภาพที่ดีมิอาจเกิดได้อย่างโดดเดียวเฉพาะตนแต่ต้องเกิดเป็นสุขภาพของชุมชนหรือสังคมทั้งมวล การมองเรื่องระบบสุขภาพชุมชนจะมีพลังต่อเมื่อทุกฝ่ายมีเป้าหมายร่วมกัน ควรเอาเป้าหมายเป็นตัวตั้งไม่ใช่เอาวิธีการ เช่น การวิจัย นวัตกรรม  การจัดการความรู้ เป็นต้น

ปัญหาสุขภาพชุมชน
สถานการณ์ที่เป็นปัญหาด้านสุขภาพในแต่ละชุมชนจะมีความเหมือนหรือแตกต่างกันไปบ้าง ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมที่แตกต่างกันสถานการณ์ที่เป็นปัญหาด้านสุขภาพของชุมชนในประเทศไทยมีหลายประการทั้งเป็นปัญหาทางตรงและทางอ้อม ดังเช่น
1.การเพิ่มอัตราการเกิดของประชากร เนื่องจากประเทศไทยยังคงมีอัตราการเกิดของประชากรสูงจนทำให้จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นกว่าเดิมมาก ทำให้หน่วยบริการด้านสุขภาพทั้งภาครัฐและเอกชน ไม่สามารถตอบสนองความต้องการด้านสุขภาพของประชาชนได้เพียงพอและทั่วถึง
2. สภาพแวดล้อมเมื่อสิ่งแวดล้อมถูกทำลายลง สภาพแวดล้อมบางอย่างจึงเสียไป เช่นอากาศเสีย เสียงดัง มีขยะมูลฝอยและสิงปฏิกูลมาก เป็นต้น นอกจากนี้สภาพดินฟ้าอากาศ ฤดูกาล ภัยธรรมชาติต่างๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงและรุนแรงมากขึ้น สภาพปัญหาเหล่านี้ย่อมทำให้เกิดการระบาดของโรคหรืออุบัติภัยขึ้นได้
            3. สุขนิสัยของประชาชน ปัญหาสุขภาพทั้งส่วนบุคคลและส่วนรวมมักเกิดจากสุขนิสัยและสุขปฏิบัติที่ไม่ดีของประชาชน อาจเป็นเพราะขาดความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติตนที่ถูกต้องและเหมาะสมด้านสุขภาพ ทัศนคติต่อการป้องกันและรักษาโรคที่ไม่ถูกต้อง มีความเชื่อผิด ๆในเรื่องสุขภาพ ด้วยเหตุเหล่านี้จึงทำให้ประชาชนไม่ค่อยเห็นความสำคัญในการป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพ ตลอดจนไม่ให้ความร่วมมือที่ดีแก่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจึงส่งผลให้เจ็บป่วยได้ง่าย
4. ปัญหาความยากจนของประชาชน ในการเข้ารับการรักษาพยาบาลนั้นจะต้องเสียค่าใช้จ่าย ซึ่งถ้ามากจนเกินไปคนยากจนก็จะไม่สามารถไปใช้บริการได้ จึงต้องรักษากันไปตามยถากรรม
5. รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณน้อย จึงทำให้ขาดแคลนยา เครื่องมือแพทย์ เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ ตลอดจนไม่สามารถสร้างสถานพยาบาลต่าง ให้เพียงพอกับความต้องการของประชาชนได้
              6. ขาดแคลนแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข โดยเฉพาะในชนบท การกระจายของแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ยังไม่ทั่วถึง บุคลากรทางการแพทย์มักจะอยู่ตามโรงพยาบาลในตัวเมืองมากแต่อยู่ในชนบทน้อย จึงทำให้ประชาชนที่อยู่ห่างไกลขาดแคลนการบริการด้านสุขภาพจากบุคลากรทางการแพทย์ ถึงแม้จะมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำอยู่ตามสถานีอนามัย แต่ก็ให้การบริการรักษาโรคภัยไข้เจ็บและอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยเท่านั้น
ดังนั้นหลักคิดใหม่ของการแก้ปัญหาด้านสุขภาพในชุมชนย่อมอยู่บนพื้นฐานที่การกระตุ้นให้ชุมชนมีความตระหนักถึงความสำคัญที่ชุมชนต้องใช้องค์ความรู้ที่ได้จากการเรียนรู้ภายนอก (Explicit knowledge) และการเรียนรู้ภายใน (Tacit knowledge) บนพื้นฐานของหลักวิชาการมาใช้แก้ปัญหาสุขภาพในชุมชนเอง โดยอาศัยหลักการการแก้ที่ต้นเหตุมากกว่าการแก้ที่ปลายเหตุ               

หลักการดำเนินงานสุขภาพชุมชน
            1.การส่งเสริมสุขภาพ (Health Promotion)  ในการประชุมนานาชาติ เรื่อง  การส่งเสริมสุขภาพที่เมืองออตตาวา  ประเทศแคนาดา เมื่อปี พ.ศ. 2529  ได้สรุปแนวคิดเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพและกำหนดเป็นกฎบัตรออตตาวา โดยให้ความหมายของคำว่า การส่งเสริมสุขภาพ หมายถึง  กระบวนการเพิ่มสมรรถนะให้คนมีความสามารถเพิ่มขึ้นในการควบคุมและการส่งเสริมให้สุขภาพของตนเองดีขึ้น ในการที่จะบรรลุสุขภาวะที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ และสังคม   ปัจเจกบุคคล หรือกลุ่มบุคคลควรที่จะต้องมีความสามารถที่จะบ่งบอกและตระหนักถึงความมุ่งมาดปรารถนาของตนเองที่จะสนองความต้องการต่าง ๆ ของตนเอง และสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงหรือปรับตนให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม  เรื่องสุขภาพจึงถูกมองในลักษณะของความจำเป็นสำหรับชีวิตประจำวัน มิใช่เป็นเพียงจุดมุ่งหมายของการดำรงชีวิตเท่านั้น สุขภาพเป็นคำที่มีความหมายในทางบวก เน้นหนักที่ทรัพยากรบุคคลและสังคม เช่นเดียวกับสมรรถนะต่าง ๆ ทางร่างกาย ดังนั้น การส่งเสริมสุขภาพจึงมิใช่เป็นความรับผิดชอบขององค์กรในภาคสาธารณสุขเท่านั้น หากกินความนอกเหนือจากการมีชีวิตอยู่อย่างมีสุขภาพดีไปสู่เรื่องของสุขภาวะโดยรวมอันประกอบด้วย สภาวะทางสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ  จะเห็นได้ว่าการส่งเสริมสุขภาพนั้นจะต้องเริ่มต้นจากบุคคลจะต้องเห็นความจำเป็นและตระหนักถึงการมีสุขภาพดี การปฏิบัติตน สำนึกต่อส่วนรวม สร้างสรรค์ให้สังคมมีความสุข ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อการมีสุขภาพดี นอกจากนี้องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนจะต้องคำนึงถึงเรื่องสุขภาพของประชาชนเป็นสำคัญด้วย การสร้างสุขภาพในชุมชนมีความเป็นไปได้ที่ประชาชนจะรวมกลุ่มสร้างเสริมสุขภาพตนเองโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่ไม่ยุ่งยากและใกล้ตัว เช่น การรับประทานอาหาร     การออกกำลังกายและการรักษาสุขภาพจิต
                  2. การป้องกันโรค (Prevention) หมายถึง การขจัดหรับยับยั้งพัฒนาการของโรครวมถึงการประเมินและการรักษาเฉพาะ เพื่อจัดความก้าวหน้าของโรคในทุกระยะ การป้องกันโรคแบ่งได้เป็น 3 ระดับ ดังนี้
          2.1 การป้องกันโรคระดับแรก (Primary prevention) หมายถึง การส่งเสริมสุขภาพโดยทั่วไปรวมถึงการปกป้องและต่อต้านการเกิดเฉพาะโรค ได้แก่ การให้สุขศึกษา การรับประทานอาหารเหมาะสมตามวัย การพัฒนาบุคลิกภาพ การทำงาน การพักผ่อน และนันทนาการอย่างเหมาะสม การได้รับคำปรึกษากับการแต่งงานและเรื่องเพศ การคัดกรองพันธุกรรม การตรวจสุขภาพ
         2.2 การป้องกันโรคระดับที่สอง (Secondary prevention) หมายถึง การได้รับการวินิจฉัยในระยะแรกของโรคและได้รับการรักษาทันท่วงที ความรุนแรงของโรคที่เป็นมีระยะเวลาสั้นสามารถกลับสู่สภาวะของการมีสุขภาพดีได้อย่างรวดเร็ว
                    2.3 การป้องกันโรคระดับที่สาม (Tertiary pervention) เป็นระดับที่ไม่เพียงแต่หยุดการดำเนินของโรคเท่านั้น แต่จะต้องป้องกันความเสื่อมสมรรถภาพอย่างสมบูรณ์ จุดประสงค์ก็คือให้กลับสู่สังคมได้อย่างมีคุณค่า
      3. การรักษาพยาบาล (Curation) คือ การตรวจแก้สิ่งบกพร่องของร่างกาย        แม้ว่า
จะมีอาการผิดปกติเล็กน้อยถ้าหากละเลยทิ้งไว้อาจเกิดโรคร้ายแรงได้ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ช่วยให้บุคคลแต่ละคนคงไว้ซึ่งสุขภาพที่ดีทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม ให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขตามสภาวะ โดยใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์และศิลปะช่วยเหลือผู้ป่วยให้มีสุขภาพที่สมบูรณ์
                  4. การกำจัดความพิการ (Disability limitation) คือ การกระทำที่สามารถช่วยให้ความพิการต่าง ๆ ในตัวผู้ป่วยลดน้อยลง หรือกลับคืนสู่สภาพปกติได้ มีแนวทางการดำเนินงาน คือ
                      4.1 การดำเนินงานเฝ้าระวังและป้องกันความพิการให้มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลควรเชื่อมโยงเครือข่ายการดำเนินงานบนฐานข้อมูลแบบเครือข่ายบริการ (Service Link) เป็นระบบการเฝ้าระวังและป้องกันความพิการระดับชาติ (National Disabilities Preventive and Surveillance System, NDPSS) ทั้งในระดับชุมชน ท้องถิ่น จังหวัดและประเทศ
                      4.2 การเฝ้าระวังและป้องกันความพิการควรจะมีการดำเนินการโดยรัฐเป็นผู้นำ เน้นการเฝ้าระวังเชิงรุกที่บูรณาการเชื่อโยงระหว่างหน่วยงานของกระทรวงต่างๆ ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสาร กระทรวงคมนาคม กระทรวงแรงงาน และกระทรวงอุตสาหกรรมรวมทั้งชุมชนและเครือข่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง  ต้องประสานความร่วมมือทำ งานเฝ้าระวังและป้องกันความพิการภายใต้ระบบเชื่อมโยงแบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์
                     4.3 สนับสนุนให้องค์กรปกครองท้องถิ่น (องค์การบริหารส่วนจังหวัด/เทศบาล/ องค์การบริหารส่วนตำบล) มีส่วนร่วมในการเร่งรัดการค้นหาและจดทะเบียนคนพิการ และให้ทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดตั้งศูนย์เครือข่ายบริการ (Service Link Center) แบบบริการ ณ จุดเดียว(One Stop Service) และให้การฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการในรูปแบบต่างๆ ของชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องพัฒนาระบบจากฐานของระบบเครือข่ายเฝ้าระวังโรคและระบบการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการของชุมชน (Community Based Rehabilitation, CBR) เพื่อเป็นการใช้พลังของประชาชน ขับเคลื่อนระบบการเฝ้าระวังความพิการในชุมชน ด้วยการเชื่อมโยงเครือข่ายกับระบบการเฝ้าระวังความพิการของรัฐระดับอำ เภอ จังหวัด เขต และประเทศต่อไป
          4.4. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเสริมสร้างความเข้มแข็งขององค์กรชุมชนในการจัดทำฐานข้อมูล (Data Based) เพื่อเชื่อมต่อในระดับชาติ ในการค้นหา เฝ้าระวัง และป้องกันความพิการที่เกิดขึ้นในชุมชน
    5. การฟื้นฟูสมรรถภาพ (Rehabilitation) คือ กระบวนการใด ๆ ก็ตามที่สามารถช่วยให้ผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บด้วยโรคใดโรคหนึ่ง กลับมามีชีวิตในสภาพปกติในสังคม ทั้งร่างกายและจิตใจ ด้วยวิธีการใช้ยา การทำหัตถการ การใช้เครื่องมือ การออกกำลังกายจำเพาะ การให้คำแนะนำทางการแพทย์ การใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือหรือทดแทน หรือวิธีการอื่นๆ อีกทั้งยังมุ่งส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันการเป็นซ้ำหรือภาวะแทรกซ้อนให้กับบุคคลทั่วไปและผู้ป่วยที่มีความพิการหรือสมรรถภาพเสื่อมถอย ทั้งทางร่างกาย ทางสติปัญญา ทางการเรียนรู้ ทางการสื่อความหมาย และทางจิตใจ โดยใช้บุคลากรที่เกี่ยวข้องจากหลาย ๆ สาขาร่วมกันให้การรักษาและฟื้นฟู เพื่อส่งเสริมศักยภาพที่เหลืออยู่ของผู้ป่วยนั้น ๆ ให้สามารถดำรงชีวิตในสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมได้ เพื่อให้เป็นภาระต่อคนรอบข้างและสังคมให้น้อยที่สุด

ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานสุขภาพชุมชน
                  ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานสุขภาพชุมชน ประกอบด้วย
      1.มนุษย์หรือบุคคลเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์ พฤติกรรม ความเชื่อ ขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรมที่มีผลต่อสุขภาพ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง มีผลมาจากกรรมพันธุ์ และพฤติกรรมส่วนการเจ็บป่วยที่เกิดจากพฤติกรรมการกิน ได้แก่ โรคพยาธิใบไม้ตับของคนอิสลาม การสูบบุหรี่ทำให้เกิดโรคหัวใจ พฤติกรรมทางเพศทำให้เป็นโรคเอดส์ได้
                 2. สิ่งแวดล้อม มี 4 ประการใหญ่ ๆ คือ สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ทางเคมี ทางชีวภาพ และทางสังคมเศรษฐกิจ ถ้าไม่อยู่ในภาวะสมดุลก็ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพชุมชนได้ ซึ่งสาเหตุของการขาดภาวะสมดุลของสิ่งแวดล้อมมาจาก
                     2.1 การเพิ่มของประชากรปัจจุบันการเพิ่มของประชากรโดยเฉลี่ยทั่วโลกมีแนวโน้มสูงขึ้น การที่ประชากรเพิ่มจำนวนมากขึ้น         หมายถึง ความต้องการในการใช้ทรัพยากร
ธรรมชาติในการดำรงชีวิตขั้นต่าง ๆ ก็เพิ่มขึ้นด้วยทำให้เกิดผลกระทบตามมา ได้แก่ การเพิ่มขึ้นของพื้นที่ทำกินทางการเกษตรจนมีการบุกรุกทำลายป่าทำให้เกิดเสียสมดุลทางธรรมชาติ อีกทั้งความต้องการในการใช้ทรัพยากรอื่น ๆ มากขึ้นเช่น น้ำ แร่ธาตุ พลังงานอากาศตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันพบว่ามีอัตราการเพิ่มของประชากรมากขึ้นในแต่ละปีซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรและปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อม
                     2.2 การขยายตัวของเมืองการขยายตัวของชุมชนหรือเมืองทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติต่าง ๆ ด้วยเนื่องจากการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็วจะทำให้เกิดปัญหาการขาดการวางแผนการวางผังเมืองไว้ล่วงหน้าทำให้เกิดปัญหาขึ้นอีกทั้งการขยายตัวของเมือง ปกติแล้วจะเกิดการขยายตัวของอุตสาหกรรมเกิดขึ้นด้วย และในขั้นตอนต่าง ๆ ของโรงงานอุตสาหกรรมถ้าหากขาดการวางแผน และการควบคุมที่ดีก็จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากมาย
                     2.3 การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่นำมาใช้ในทางการผลิตด้านการเกษตรโดยการใช้สารเคมีต่าง ๆ เช่น ปุ๋ย และยาฆ่าแมลงทำให้เกิดการตกค้างของสารเหล่านี้ในดินและอาจขยายไปสู่แหล่งน้ำและระบบนิเวศรวมถึงเกิดการสะสมในสายใยอาหารทางด้านอุตสาหกรรมสารที่ใช้ในกระบวนการผลิตและสารที่เป็นผลเกิดจากกระบวนการผลิต เช่น ตะกั่ว ปรอท สารหนู เป็นต้น จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพและมีขั้นตอนการกำจัดส่วนที่ตกค้าง (Residuals) ให้หมดสิ้นไปได้ยาก
         2.4 ความไม่รู้หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หลายครั้งที่คนเราทำลายสิ่งแวดล้อมเพราะความไม่รู้ถึงสาเหตุและผลกระทบขาดข้อมูลความเข้าใจที่ถูกต้อง ทำให้เราเข้าถึงและสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมแตกต่างกัน ในขณะที่นักอนุรักษ์นึกถึงสิ่งแวดล้อมในรูปของระบบนิเวศของธรรมชาติ ป่าไม้และสัตว์ป่า แต่ภาคอุตสาหกรรมกลับนึกถึงวัตถุดิบที่เป็นปัจจัยในการผลิตเป็นต้นทุน นักเศรษฐศาสตร์จะนึกถึงทรัพยากรที่ต้องใช้ให้คุ้มค่า ชาวนาจะนึกถึงฝน ภาคท่องเที่ยวนึกถึงเงิน การทำการเกษตรที่ไม่ถูกต้องของเกษตรกร และอื่น ๆ สังคมยังขาดความเข้าใจถึง สิ่งแวดล้อมในลักษณะรวมที่เป็นความสัมพันธ์ของสิ่งต่าง ๆ ที่เมื่อเกิดความเสียหายที่ใดที่หนึ่งก็จะมีผลกระทบแก่กันและกันบางครั้งลืมไปว่าความสนุกชั่วครู่ชั่วยามของตนเป็นสิ่งที่ทำลายความเป็นธรรมชาติและความงดงามของสถานที่
                3. การบริการสุขภาพชุมชน ตามนโยบายของรัฐบาลในการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าโดยมีการส่งเสริมให้ประชาชนทุกคนได้เข้าถึงบริการด้านส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคและภาวะการเจ็บป่วยเชิงรุกโดยเน้นกลุ่มเป้าหมายที่มีความสำคัญคือ กลุ่มเด็ก สตรีมีครรภ์ กลุ่มวัยทำงาน ผู้สูงอายุ ผู้พิการและกลุ่มผู้ป่วยที่เจ็บป่วยเรื้อรัง โดยมีรูปแบบการให้บริการเน้นกระบวนการการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย เช่น ส่วนราชการต่าง ๆ องค์กรวิชาชีพ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรภาคประชาชน โดยมุ่งหวังให้ชุมชนจัดการกับปัญหาและพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน โดยให้ชุมชนมีบทบาทในการบริการสุขภาพชุมชน เช่น ประเมินสุขภาพทางกายภาพของประชากรในชุมชน ส่งเสริมและป้องกันสุขภาพ ให้คำแนะนำเรื่องสุขภาพ สอนผู้ป่วย ผู้พิการและครอบครัวให้สามารถปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน เป็นต้น

การพัฒนาสุขภาพชุมชน
การพัฒนาเป็นสิ่งใหม่ที่เพิ่งก่อกำเนิดขึ้นในช่วง 4 ทศวรรษนี้เท่านั้นแต่กลายเป็นสิ่งจำเป็นในฐานะของการทำประเทศให้ก้าวเข้าสู่ความทันสมัย นักมานุษยวิทยาและนักสังคมศาสตร์สาขาต่าง ๆ ได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับการพัฒนาทั้งในแง่ที่เป็นผู้วิพากษ์หรือรื้อเลาะความคิดการพัฒนาให้เห็นถึงสิ่งที่แฝงเร้นอยู่ในวิธีคิดเรื่องการพัฒนาไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจ หรือการสร้างความเป็นอื่นที่ด้อยพัฒนาให้กับชุมชนและในแง่ที่เป็นผู้สนับสนุนความเข้าใจที่ดีต่อชุมชนเพื่อให้การพัฒนาไม่เกิดผลเสียและมีความละเอียดอ่อนต่อวัฒนธรรมท้องถิ่น ในแง่ของการวิพากษ์หรือเปิดโปงให้เห็นสิ่งแฝงเร้นในการพัฒนานั้น การศึกษาแนวคิดการพัฒนาชุมชนมีความสำคัญยิ่งขึ้นเมื่อชุมชนในยุคโลกาภิวัตน์ไม่อาจหลบเลี่ยงจากการปะทะของกระแสทุนและกระแสการครอบงำให้ทุกอย่างมีมาตรฐานเดียวกับศูนย์กลางได้
รุ่งเรือง  กิจผาติ (2552,ตุลาคม) กล่าวว่า หลายคนอาจมีสุขภาพกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ มีรูปร่างหรือหน้าตาที่สวยงามอาจมีทั้งเกียรติยศ ชื่อเสียงและทรัพย์สิน แต่มิได้หมายความว่าคนๆนั้นจะมีสุขภาพที่ดีเสมอไป สุขภาพมิได้หมายเพียงแต่สุขภาพกายเท่านั้นแต่สุขภาพ หมายถึง สุขภาวะที่สมบูรณ์ทั้งทางกาย ทางใจ ทางสังคม และทางจิตวิญญาณ ดังนั้นการพัฒนาสุขภาพจึงเท่ากับการพัฒนาทุก ๆ มิติ ของมนุษย์ สังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างเชื่อมโยงเป็นบูรณาการ
ในสังคมที่ประชาชนมีสุขภาพดีในทุกมิติ ได้แก่ สุขภาพกาย สุขภาพใจ สุขภาพทางสังคม และสุขภาพทางจิตวิญญาณ ประชาชนเจ็บป่วยด้วยสุขภาพกายลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับอีกสังคมที่มีเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย มีดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจที่ดีกว่าด้วยซ้ำ การแก้ปัญหาดังกล่าวคงไม่สามารถแก้ปัญหาที่คนอื่นๆได้ทั้งหมด ปัญหาทุกอย่างต้องเริ่มต้นแก้ไขที่ตัวเราก่อนสิ่งสำคัญคือ การแก้ไขและพัฒนาระบบ การพัฒนาสุขภาพมนุษย์ในทุกมิติแห่งสุขภาพจะนำมาซึ่งการพัฒนาสุขภาพที่แท้จริงของมนุษย์ พัฒนาองค์กร พัฒนาสังคม และพัฒนาประเทศชาติ
ในบริบทของการพึ่งตนเองด้านการสาธารณสุขนั้นถ้าพิจารณางานด้านสาธารณสุขมูลฐานที่ดำเนินการในปัจจุบัน ยังคงยึดรูปแบบเดิมที่ดำเนินการมากว่าทศวรรษโดยมีแบบแผนกิจกรรมสำเร็จรูปที่ดำเนินการเหมือนกันทั้งประเทศ และมีลักษณะที่โน้มเอียงไปในทางการพัฒนาชุมชนชนบทเป็นหลัก ทำให้รูปแบบและเนื้อหาของงานสาธารณสุขมูลฐานขาดความหลากหลาย และไม่สามารถตอบสนองกับสภาพปัญหาของท้องถิ่นได้อย่างเฉพาะเจาะจง หากจะปรับแนวทางไปสู่การพึ่งตนเองทางสุขภาพของชุมชนให้มีความหลากหลายคือ ควรจะมองไปที่ชุมชนว่าความแตกต่างหลากหลายดำรงอยู่ได้อย่างไรและมีผลต่อการพึ่งพาด้านสุขภาพและด้านอื่น ๆ อย่างไร และมีความหมายอย่างไรต่อการพัฒนาสุขภาพอนามัยในชุมชน (โกมาตร 2547: 11) แต่เรื่องที่ยากที่สุดของการพัฒนานั้นอยู่ที่การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์หรือแนวคิดของเจ้าหน้าที่ซึ่งคุ้นเคยอยู่กับนโยบายและเงื่อนไขเดิมๆที่กำหนดว่า เจ้าหน้าที่มีหน้าที่ต้องบริการประชาชน แนวคิดที่ล้าสมัยเช่นนี้สวนทางกับความพยายามที่จะให้ประชาชนลุกขึ้นแสดงบทบาทด้านพัฒนาสุขภาพ อันเป็นหลักการพื้นฐานของงานสาธารณสุขมูลฐาน
1.ปัญหาสุขภาพในสังคมไทย ปัญหาสุขภาพสังคมไทยขณะนี้กำลังเผชิญกับวิกฤติสุขภาพที่สำคัญ 3 ประการ คือ
  1.1 อยู่ที่ปัญหาค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของระบบบริการสาธารณสุขที่สูงมาก โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านยารวมทั้งการพัฒนาระบบที่ผ่านมายังพึ่งพิงการนำเข้ายาและเทคโนโลยีทางการแพทย์จากต่างประเทศที่มีราคาแพง และไม่เป็นธรรม
  1.2 เกิดจากกระแสการพัฒนาสุขภาพในสังคมสมัยใหม่ที่ทำให้ระบบสุขภาพภาคประชาชนอ่อนแอ ชุมชนไม่สามารถพึ่งตนเองด้านสุขภาพได้ มีปัญหาการพัฒนาระบบยาของชุมชน การมียาชุด ยาอันตราย ยาเสื่อมคุณภาพ กระจายอยู่ในชุมชน รวมทั้งการใช้ปุ๋ย ยากำจัดศัตรูพืช การใช้ฮอร์โมนเพื่อเร่งรัดการเจริญเติบโต ของสัตว์เศรษฐกิจที่ใช้เป็นอาหาร และการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์เศรษฐกิจที่ใช้เป็นอาหาร เป็นต้น
             1.3 วาทกรรมทางด้านสุขภาพภายใต้ระบบทุนนิยม และบริโภคนิยมที่เชื่อว่า "เงิน" สามารถซื้อได้ทุกอย่างแม้แต่ชีวิต สุขภาพ และความงาม มีการสื่อสารสร้างความเชื่อกับผู้บริโภคทั้งทางตรงและทางอ้อมเห็นได้จากโฆษณาและการส่งเสริมการขายเพื่อให้ผู้บริโภคซื้อยา ผลิตภัณฑ์สุขภาพและบริการสุขภาพเพิ่มมากขึ้นตลอดเวลาจนส่งผลให้เกิดการบริโภคยา อาหาร หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ ตลอดจนบริการทางการแพทย์ที่เกินจำเป็น
          2.แนวคิดหลักในการพัฒนาสุขภาพจากสาระสำคัญของแผนพัฒนาสุขภาพแห่งชาติ
ประเทศไทยได้จัดทำ "แผนพัฒนาสาธารณสุข" มาตั้งแต่มีการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2504 โดยในช่วงสามแผนแรกระหว่าง พ.ศ. 2504 - 2519 กระทรวงสาธารณสุขได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของระบบสาธารณสุขทั้งประเทศ โดยเฉพาะโรงพยาบาลให้ครอบคลุมทุกจังหวัด
ในแผนพัฒนาสาธารณสุขฉบับที่ 4 และ 5 (พ.ศ. 2520-2529) ได้ขยายบริการสาธารณสุขสู่พื้นที่ห่างไกลในชนบท ควบคู่กับการพัฒนางานด้านสาธารณสุขมูลฐานจึงทำให้มีโรงพยาบาลระดับอำเภอที่เรียกว่า "โรงพยาบาลชุมชน" ครบทุกอำเภอและมีสถานีอนามัยครบทุกตำบล
ในช่วงแผนพัฒนาสาธารณสุขฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2530-2534) พบว่าปัญหาสุขภาพเปลี่ยนแปลงไป เนื่องมาจากวิถีการดำรงชีวิต และพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนแปลง รวมทั้งค่านิยมใหม่ในสังคมไทย ที่เน้นการดูแลสุขภาพด้วยการใช้ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศ
แผนพัฒนาสาธารณสุขฉบับที่ 7 - 8 (พ.ศ. 2535 - 2544) กระทรวงสาธารณสุข ปรับเปลี่ยนแนวคิดใหม่จากเดิมที่มุ่งสร้างสถานบริการสาธารณสุขมาเน้นการพัฒนาโดยมีคนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาและหันมาให้ความสำคัญกับ "การสร้างสุขภาพดี" มากกว่า "การซ่อมสุขภาพ" เน้นที่การออกกำลังกาย การควบคุมการบริโภค และการลดปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพด้านต่างๆ รวมทั้งการรณรงค์ให้ลด ละ เลิกการสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น
ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2544-2549) มีการนำโครงการสามสิบบาทรักษาทุกโรค มาใช้เพื่อประกันสุขภาพให้แก่ประชาชนบางกลุ่มโดยในระยะแรกได้ทดลองดำเนินการเฉพาะบางพื้นที่ ต่อมารัฐบาลในเวลานั้น ได้ขยายเป็นโครงการที่ดำเนินการเต็มพื้นที่ทั่วประเทศภายใต้นโยบาย "หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า"
ส่วนการพัฒนาสุขภาพจากสาระสำคัญของแผนพัฒนาสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550-2554) สรุปได้ดังนี้
 1.1ปรัชญาและแนวคิดการพัฒนาระบบสุขภาพไทยได้น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางการพัฒนาสุขภาพและยึดหลักการที่ว่าสุขภาพดีเป็นผลจากสังคมดีโดยมีแนวคิดหลัก  2 ประการคือ
     1.1.1 แนวคิดหลักประการแรก : จากเศรษฐกิจพอเพียงสู่ระบบสุขภาพพอเพียง มีหลักการสำคัญ 7 ประการคือ
              1) ยึดทางสายกลาง
              2) มีความสมดุลพอดี
              3) รู้จักพอประมาณ
              4) การมีเหตุผล
              5) มีระบบภูมิคุ้มกัน
              6) รู้เท่าทันโลก
              7) มีคุณธรรมและจริยธรรม
                 1.1.2 แนวคิดหลักประการที่สอง  สุขภาพดีเป็นผลจากสังคมดีหรือสังคมแห่งสุขภาวะ  เป็นสังคมที่เป็นธรรม เอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน ไม่กดขี่หรือเอารัดเอาเปรียบกัน เคารพในคุณค่าความเป็นมนุษย์เสมอกัน ไม่เบียดเบียนตนเองผู้อื่นและไม่เบียดเบียนธรรมชาติ
            3.นโยบายด้านการพัฒนาสุขภาพของรัฐบาล
              นโยบายการพัฒนาสุขภาพของประชาชนของรัฐบาลที่มีนายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะเป็นนายยกรัฐมนตรี 
 3.1เพิ่มคุณภาพของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้อย่างไม่เป็นอุปสรรคพร้อมทั้งปฏิรูประบบบริหารจัดการสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพทั่วถึงและครบวงจร ทั้งการรักษาพยาบาล การฟื้นฟูสุขภาพ การป้องกันโรค และการส่งเสริมสุขภาพ
            3.2 จัดให้มีมาตรการลดปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อสุขภาพและภาวะทุพโภชนาการที่นำไปสู่การเจ็บป่วยเรื้อรัง เช่น โรคมะเร็ง หัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตและอุบัติเหตุจากการจราจร พร้อมทั้งนำมาตรการภาษีการบริโภคสินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพมาใช้กระตุ้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบุคคลให้ลด ละ และเลิก พฤติกรรมสุ่มเสี่ยงต่อสุขภาพ
           3.3 ดำเนินการระบบเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคเชิงรุก เพื่อป้องกันปัญหาการป่วยและตายด้วยโรคอุบัติใหม่และระบาดซ้ำในคน พร้อมทั้งสร้างขีดความสามารถในการเฝ้าระวัง วินิจฉัย และดูแลรักษาพยาบาลอย่างเป็นระบบที่ประสานเชื่อมโยงทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
          3.4 เพิ่มแรงจูงใจและขยายงานอาสาสมัครสาธารณสุข เพื่อเป็นกำลังสำคัญให้ชุมชนในการดูแลเด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ การดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาลและการเฝ้าระวังโรคในชุมชน รวมทั้งเชื่อมโยงการดำเนินงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
         3.5 ส่งเสริมให้ประชาชนทุกระดับมีโอกาสออกกำลังกาย และเล่นกีฬาเพื่อสร้างเสริมสุขภาพและพลานามัยที่ดี รวมทั้งพัฒนาทักษะทางด้านกีฬาสู่ความเป็นเลิศที่จะนำชื่อเสียงมาสู่ประเทศชาติสร้างนิสัยรักการกีฬาและใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์เพื่อหลีกเลี่ยงการหมกมุ่นและมั่วสุมกับอบายมุขและยาเสพติด
ปิยะธิดา นาคะเกษียร (2552,ตุลาคม) กล่าวว่าการพัฒนาสุขภาพชุมชนที่เน้นการแก้ปัญหาด้านสุขภาพอนามัยและการมีระบบสุขภาพที่สนองตอบต่อความต้องการของประชากรทุกกลุ่มเป้าหมายของชุมชน เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นจากการการเรียนรู้ร่วมกันของผู้ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ซึ่งได้แก่ พยาบาลชุมชน เจ้าหน้าที่สาธารณสุข  ผู้นำชุมชน กลุ่มองค์กรชุมชน  อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) และประชาชนในพื้นที่ 
แนวคิดในการพัฒนาสุขภาพชุมชน คือ การทำงานที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเน้นการเข้าถึงข้อมูลที่สะท้อนให้เห็นปัญหาด้านสุขภาพของคนในพื้นที่และปัญหาสุขภาพซึ่งเป็นปัญหาเฉพาะของประชากรกลุ่มวัยต่างๆ  ตลอดจนวิธีการทำงานที่เน้นการทำงานเชิงรุกแบบมีส่วนร่วมในทุกระดับของชุมชน
1.ขั้นตอนการดำเนินงานพัฒนาสุขภาพชุมชน ประกอบด้วยขั้นตอนที่สำคัญ คือ
  1.1 การกำหนดกลุ่มเป้าหมายของการพัฒนาสุขภาพชุมชน พบว่า การดำเนินการพัฒนาสุขภาพชุมชนให้ความสำคัญกับการให้บริการดูแลสุขภาพของประชากรทุกกลุ่มวัย ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรเป้าหมายหลักตามชุดสิทธิประโยชน์ ซึ่งได้แก่ กลุ่มเด็กวัย 0-6 ปี  กลุ่มเด็กวัยเรียนและเยาวชน กลุ่มสตรี กลุ่มวัยแรงงานและกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส 
  1.2. การปฏิบัติการเพื่อการพัฒนาสุขภาพชุมชน ซึ่งประกอบด้วยกระบวนการที่สำคัญ คือ การค้นหาทุนทางสังคม  การพัฒนาศักยภาพของผู้ร่วมกระบวนการ  การกำหนดเป้าหมายในการพัฒนาสุขภาพชุมชน และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการพัฒนาสุขภาพชุมชน
2.เป้าหมายของการพัฒนาสุขภาพชุมชน
               2.1กลุ่มประชากรเป้าหมาย กลุ่มประชากรเป้าหมายที่สำคัญในการพัฒนาระบบสุขภาพชุมชนให้เป็นชุมชนแห่งการสร้างเสริมสุขภาพ สะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มประชากรทุกกลุ่มตามชุดสิทธิประโยชน์ ซึ่งได้แก่  กลุ่มเด็กวัย 0-6 ปี  กลุ่มเด็กวัยเรียนและเยาวชน  กลุ่มสตรี  กลุ่มวัยแรงงาน  และกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส  ล้วนเป็นประชากรกลุ่มเป้าหมายของการพัฒนาระบบการบริการดูแลสุขภาพของชุมชนทั้งสิ้น
   2.2 ประเด็นหรือปัญหาสุขภาพในการพัฒนาสุขภาพชุมชนสำหรับกลุ่มเป้าหมายทุกกลุ่มวัยนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการพัฒนาระบบสุขภาพ จะต้องเรียนรู้ถึงประเด็นปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นกับคนในพื้นที่ ข้อมูลจากการถอดบทเรียนผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการพัฒนาสุขภาพชุมชนชี้ให้เห็นว่า ประเด็นหรือปัญหาสุขภาพของพื้นที่แบ่งได้ 2 ลักษณะ คือ
      2.2.1 ปัญหาสุขภาพที่เป็นปัญหาเฉพาะของพื้นที่ ซึ่งได้แก่ ปัญหาโรคไข้เลือดออกซึ่งถือเป็นโรคประจำท้องถิ่นปัญหาการใช้สารเคมีในการเพาะปลูกพืช เป็นต้น
      2.2.2 ปัญหาสุขภาพหรือความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นกับประชากรในกลุ่มวัยต่างๆ โดยเฉพาะปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นกับกลุ่มประชากรวัยเด็ก อาทิเช่น โรคอ้วน ปัญหาเด็กติดเกมส์ เป็นต้น กลุ่มผู้สูงอายุ ได้แก่ โรคเรื้อรัง (เบาหวาน ความดันโลหิตสูง) กลุ่มสตรีวัยเจริญพันธุ์ ได้แก่ โรคมะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม เป็นต้น
              2.3 ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมจากกระบวนการพัฒนาสุขภาพชุมชน สะท้อนให้เห็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นทั้งในส่วนของผลลัพธ์เชิงระบบที่ก่อให้เกิดการพัฒนาระบบบริการสุขภาพแก่ประชากรในกลุ่มวัยต่าง ๆ การพัฒนาระบบการทำงานของกลุ่มผู้ให้บริการเกิดผลลัพธ์ในส่วนของการพัฒนาศักยภาพคนที่เกี่ยวข้องตลอดกระบวนการและที่สำคัญก่อให้เกิดการพัฒนาวิธีการทำงาน  แนวปฏิบัติตลอดจนเครื่องมือในการทำงาน
3.เงื่อนไขแห่งความสำเร็จของการออกแบบการพัฒนาสุขภาพชุมชน
  เงื่อนไขและปัจจัยของความสำเร็จในการพัฒนาระบบสุขภาพชุมชนที่นำไปสู่การสร้างเสริมสุขภาพชุมชนมี 2 ประเด็นหลัก คือ
  3.1 การสร้างเสริมสุขภาพโดยอาศัยความต้องการของชุมชนเป็นตัวตั้ง เกิดจากความต้องการที่จะจัดการกับปัญหาสุขภาพ ความต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนและสิ่งแวดล้อมก่อให้เกิดแรงผลักดันที่ต้องการที่จะให้ตนและชุมชนมีความผาสุก สะท้อนให้เห็นจากกิจกรรมและโครงการต่างๆที่เกิดขึ้นล้วนแล้วแต่ผ่านจากการกลั่นกรองจากความคิดของประชาคมเพื่อจะตอบสนองปัญหาและความต้องการที่แท้จริงของประชาชน
 3.2 การสร้างและพัฒนาความเข้มแข็งของเครือข่ายการสร้างเสริมสุขภาพโดยมีวิธีการออกแบบการทำงานที่ต้องอาศัยบุคคลากรหลายฝ่ายทั้งสถานบริการสุขภาพในพื้นที่  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  ผู้นำชุมชน กลุ่มอาสามสมัครสาธารณสุข  (อสม.) ประธานกลุ่ม/เครือข่ายต่าง ๆ แกนนำชุมชนที่ต้องมีส่วนร่วมตั้งแต่การวิเคราะห์สภาพปัญหาชุมชน การค้นหาทุนทางสังคมที่มีอยู่และนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการแก้ปัญหาชุมชน

การส่งเสริมสุขภาพชุมชน
            สภาวะที่สังคมปัจจุบันมีการแข่งขันกันสูงเนื่องจากจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้นทำให้ความต้องการใช้ทรัพยากรมากขึ้นตามไปด้วย ในขณะที่ทรัพยากรที่จะรองรับได้มีไม่เพียงพอ  ทำให้คุณภาพชีวิตของคนลดน้อยลงส่งผลไปถึงสุขภาพกายและสุขภาพใจ ถ้าหากไม่มีการดูแลป้องกันและรักษาสุขภาพส่วนบุคคลของตนเองให้ดีก็จะทำให้มีปัญหาในการดำเนินชีวิตประจำวัน และก่อให้เกิดปัญหาทางสังคมตามมา  จะเห็นได้ว่าโรคภัยไข้เจ็บและปัญหาสุขภาพจำนวนมาก ไม่สามารถควบคุมด้วยองค์ความรู้และเทคโนโลยีทางการแพทย์เพียงเท่านั้น  กระบวนทัศน์เกี่ยวกับสุขภาพ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเสริมสร้างคุณภาพชีวิต ขยายกรอบแนวคิดครอบคลุมไปถึงเรื่องสุขภาวะ (Well- being) ทั้งมิติทางกาย ทางใจ ทางสังคม และทางปัญญา (จิตวิญญาณ)  และทั้งมิติของครอบครัว ชุมชน และสังคมมากขึ้น  สุขภาพจึงมีความหมายที่กว้างกว่าเรื่องของโรคภัยไข้เจ็บแบบเดิมๆ และสุขภาพก็มีผลกระทบมาจากหลายปัจจัย ไม่ใช่แค่เรื่องเชื้อโรคเท่านั้น
1.องค์ประกอบสำคัญที่มีอิทธิพลต่อสุขภาพ คือ
              1.1 พันธุกรรม หมายถึง ลักษณะที่ได้รับการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษ ได้แก่ สีผม สีตา สีผิว โรคทางพันธุกรรม ความสามารถทางสมองหรือสติปัญญา เป็นต้น กรรมพันธุ์ที่ดีเป็นการบ่งบอกถึงการมีสุขภาพดี ความบกพร่องทางร่างกายหรือจิตใจที่ได้รับการถ่ายทอดทางพันธุกรรม ยากที่จะแก้ไขให้กลับคืนเข้าสู่สภาวะที่เป็นปกติได้
              1.2 สิ่งแวดล้อม หมายถึง ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบตัวเราและมีความสำคัญต่อสุขภาพ ได้แก่เรื่องของการบริโภคอุปโภค โรคภัยไข้เจ็บ สภาพมลภาวะสิ่งแวดล้อม สิ่งเหล่านี้ถ้าอยู่ในสภาวะที่เป็นพิษจะก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมต่อสุขภาพและเสี่ยงต่อความเจ็บป่วย
              1.3 พฤติกรรม หมายถึง การปฏิบัติตนหรือการแสดงออก ในชีวิตประจำวันพฤติกรรมที่ขาดความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อย ประมาทในการปฏิบัติงานหรือการดำรงชีวิตประจำวันจะก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมต่อสุขภาพและเสี่ยงต่อความเจ็บป่วยได้สูง
             1.4 การบริการสาธารณสุข เป็นการป้องกันและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับสุขภาพ ตลอดไปถึงการส่งเสริมให้สุขภาพดีได้
                       Radial Diagram

ภาพที่ 1.1  องค์ประกอบที่สำคัญที่มีอิทธิพลต่อสุขภาพ

        เพื่อให้ประชาชนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นต้องเข้าใจถึงวิธีการในการดูแลรักษาสุขภาพในด้านต่าง ๆ  ซึ่งวิธีการคิดแบบวิทยาศาสตร์ก็มีส่วนทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นกล่าวคือ คนที่คิดอะไรแบบวิทยาศาสตร์คือการคิดแบบเป็นเหตุเป็นผล มีความรับผิดชอบและดำเนินการใด ๆอย่างสร้างสรรค์  ไม่เกิดปัญหาขัดแย้ง  สังคมโดยรวมก็จะดี สภาพชีวิตต่างๆ ก็จะดี  ทั้งนี้การดำเนินงานในลักษณะป้องกันด้วยวิสัยทัศน์แบบวิทยาศาสตร์  ย่อมให้ผลที่คุ้มค่ากว่าการดำเนินการแก้ไข เมื่อเกิดปัญหาขึ้นในภายหลัง 
2.แนวทางในการส่งเสริมสุขภาพชุมชน
              ในปี พ.ศ. 2520 องค์การอนามัยโลกได้จัดให้มีการประชุมเพื่อสนับสนุนเป้าหมายสุขภาพดีถ้วนหน้า (Health For All) ขึ้น และต่อมามีการประชุมนานาชาติเรื่อง การสาธารณสุขมูลฐาน” (Primary Health Care) จัดโดยกองทุนสงเคราะห์เด็กแห่งสหประชาชาติ (The United Nations Children’s Fund) ร่วมกับองค์การอนามัยโลก (WHO: World Health Organization) ณ กรุงอัลมา อะตา ประเทศในปี พ.ศ. 2521 จากการประชุมในครั้งนี้ งานส่งเสริมสุขภาพหรืออีกนัยหนึ่งการสาธารณสุขยุคใหม่ “ (New Public Health) ได้เริ่มต้นพร้อมกับคำประกาศเจตนารมณ์จากการประชุมที่ตระหนักว่าสุขภาพดีเป็นเป้าหมายพื้นฐานทางสังคม และได้กำหนดนโยบายสุขภาพใหม่โดยเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน ความร่วมมือระหว่างภาคต่าง ๆ ของสังคม โดยมีการสาธารณสุขมูลฐานเป็นพื้นฐาน ต่อมาเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2529 ได้มีการประชุมนานาชาติเรื่องการส่งเสริมสุขภาพ” (Health Promotion) ขี้นเป็นครั้งแรก ณ กรุงออตตาวา ประเทศแคนนาดาในการประชุมครั้งนี้ ได้มีการประกาศกฎบัตรออตตาวาเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ” (Ottawa Charter for Health Promotion) โดยให้ความหมายของการส่งเสริมสุขภาพ ดังนี้
            การส่งเสริมสุขภาพ หมายถึง  กระบวนการเพิ่มสมรรถนะให้คนมีความสามารถเพิ่มขึ้นในการควบคุมและการส่งเสริมให้สุขภาพของตนเองดีขึ้น ในการที่จะบรรลุสุขภาวะที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ และสังคม ปัจเจกบุคคลหรือกลุ่มบุคคลควรที่จะต้องมีความสามารถที่จะบ่งบอกและตระหนักถึงความมุ่งมาดปรารถนาของตนเองที่จะสนองความต้องการต่าง ๆ ของตนเองและสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงหรือปรับตนให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม เรื่องสุขภาพจึงถูกมองในลักษณะของความจำเป็นสำหรับชีวิตประจำวันมิใช่เป็นเพียงจุดมุ่งหมายของการดำรงชีวิตเท่านั้น สุขภาพเป็นคำที่มีความหมายในทางบวกเน้นหนักที่ทรัพยากรบุคคลและสังคมเช่นเดียวกับสมรรถนะต่าง ๆ ทางร่างกาย ดังนั้นการส่งเสริมสุขภาพจึงมิใช่เป็นความรับผิดชอบขององค์กรในภาคสาธารณสุขเท่านั้น หากกินความนอกเหนือจากการมีชีวิตอยู่อย่างมีสุขภาพดีไปสู่เรื่องของสุขภาวะโดยรวมอันประกอบด้วยสภาวะทางสังคม สิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ
            การส่งเสริมสุขภาพส่วนใหญ่จะหมายถึง งานบริการของบุคลากรสาธารณสุขเพื่อทำให้คนมีสุขภาพดี ได้แก่ การดูแลอนามัยแม่และเด็ก การวางแผนครอบครัว การดูแลหญิงตั้งครรภ์ก่อนคลอด ระหว่างคลอดและหลังคลอด การดูแลทารก และเด็ก การให้วัคซีน การโภชนาการ การให้สุขศึกษา การให้คำปรึกษาแนะนำ การอนามัยโรงเรียน เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่มุ่งบริการที่บุคคล (Individual care) โดยบางเรื่องเลยไปถึงครอบครัว และชุมชนด้วยการส่งเสริมสุขภาพในความหมายที่เป็น 1 ใน 4 ปฏิบัติการเพื่อให้ผู้คนมีสุขภาพอนามัยดี แฝงนัยของการที่ต้องมีบุคลากรสาธารณสุขที่มีความรู้ ความสามารถเฉพาะ เป็นผู้จัดบริการให้กับประชาชนเป็นหลัก โดยฝ่ายประชาชนก็ต้องดูแลและปฏิบัติพร้อมกันด้วย (อำพล  จินดาวัฒนะ,2546:11)
             1.หลักการหรือคุณค่าของการสร้างเสริมสุขภาพต้องเป็นไปเพื่อ
                1.1 การเสริมสร้างความเข้มแข็งของบุคคล ครอบครัว ชุมชน และสังคมเพราะสุขภาพไม่ใช่แค่เรื่องป่วย - ไม่ป่วยและเรื่องการได้รับบริการสาธารณสุขเพียงเท่านั้น
               1.2 การมีส่วนร่วมของสาธารณะ ทั้งของการสร้างเสริม ควบคุม ป้องกันปัญหาการเยียวยา บำบัด การฟื้นฟูสภาพในทั้ง 4 มิติของสุขภาพ ไม่ใช่การทำแค่ปรับปรุง พัฒนา หรือปฏิรูปการจัดบริการสาธารณสุข โดยบุคลากรสาธารณสุขเท่านั้น
               1.3 การให้ความสำคัญกับปัจจัยทางสังคม และสิ่งแวดล้อม ที่ผ่านมา การดำเนินงานเรื่องสุขภาพ มักเน้นที่ปัจจัยทางชีวภาพ กายภาพ องค์ความรู้ และเทคโนโลยีทางการแพทย์เป็นสำคัญ ซึ่งมีความสำคัญและจำเป็น แต่ไม่เพียงพอ ต้องหันมาให้ความสำคัญ กับปัจจัยที่กว้างกว่านั้น เพราะสุขภาพมีความหมายที่กว้างกว่าเดิม และปัจจัยที่กระทบต่อสุขภาพก็กว้างขวาง และสลับซับซ้อนกว่าเดิมมาก
               1.4การลดความไม่เท่าเทียมและความไม่ยุติธรรมทางสังคมเพราะสิ่งเหล่านี้มีผลกระทบ ทำให้บุคคล ครอบครัวและชุมชนเสียสุขภาวะถ้าแก้ตรงนี้ไม่ได้ก็เกิดสุขภาวะได้ยาก
               1.5 การสร้างความร่วมมือระหว่างภาคีทุกภาคส่วน การจะสร้างเสริมสุขภาพในกระบวนทัศน์ใหม่ จำเป็นต้องสร้างความร่วมมือให้ทุกฝ่ายในสังคมเข้ามารับผิดชอบใช้องค์ความรู้วิทยาการ เทคโนโลยีหลายสาขาผนึกกำลังช่วยกันทำ
          2.ยุทธศาสตร์การสร้างเสริมสุขภาพในรูปกฎบัตรออตตาวา
              การสร้างเสริมสุขภาพมีความหมาย 2 ระดับ คือ ระดับปฏิบัติการบริการสาธารณสุข เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพและระดับยุทธศาสตร์การสร้างสุขภาพ ซึ่งความหมายในระดับที่เป็นยุทธศาสตร์ มีการนำเสนอ โดยองค์การอนามัยโลกในรูปของกฎบัตรออตตาวา (Ottawa Charter) ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2529  มีสาระสำคัญ ขยายความ "การสร้างเสริมสุขภาพ" ออกไปจากความเข้าใจเดิมๆ ให้มีความหมายใหม่ว่า คือ "กระบวนการของการเพิ่มสมรรถนะ ให้คนสามารถควบคุมปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดสุขภาพและเป็นผลให้บุคคลมีสุขภาพดี สามารถควบคุมพฤติกรรมของตนเอง ให้เหมาะสม รวมไปถึงการปรับสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดี" ซึ่งมีสาระสำคัญ 5 องค์ประกอบ คือ ดังนี้
            2.1 การสร้างนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ (Construct a healthy public policy)
                นโยบายสาธารณะในที่นี้ไม่ใช่นโยบายที่เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรที่กำหนดมาจากรัฐบาลหรือราชการเพียงเท่านั้นแต่หมายถึง  ทิศทางหรือแนวทางที่สังคมโดยรวมเห็นว่าหรือเชื่อว่าควรจะดำเนินการไปในทิศทางนั้น  ในแต่ละสังคมมีนโยบายสาธารณะเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ไม่เฉพาะที่เป็นนโยบายทางการเมืองของพรรคการเมืองต่าง ๆ นโยบายของรัฐบาล นโยบายในแผนพัฒนาของชาติหรือนโยบายของกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ เท่านั้นแต่นโยบายสาธารณะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาจากภาคประชาชน ภาคเอกชน ชุมชน และสังคมด้วย              
               2.1.1 ลักษณะสำคัญของนโยบายสาธารณะ  ลักษณะสำคัญของนโยบายสาธารณะไม่ได้อยู่ที่คำประกาศหรือข้อเขียนที่ออกมาเป็นลายลักษณ์อักษรหรือเป็นทางการ แต่อยู่ที่ "กระบวนการ" ของการดำเนินการให้ได้มาซึ่งนโยบายสาธารณะมากกว่า โดยกระบวนการสร้างนโยบายสาธารณะที่ดี ต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย ที่เกี่ยวข้องในสังคม เข้ามาทำงานร่วมกันโดยร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารความรู้ต่างๆ ร่วมกำหนดทิศทาง แนวทางของนโยบายสาธารณะ ร่วมดำเนินการตามนโยบายเหล่านั้น ร่วมติดตามผลและร่วมทบทวนนโยบายสาธารณะ เพื่อปรับปรุงแก้ไขและพัฒนาต่อเนื่อง ซึ่งจะเห็นได้ว่า นโยบายสาธารณะเป็นนโยบายที่มีชีวิต คือ ผู้คนในสังคมเข้าร่วมมาก มีการพัฒนานโยบายอย่างต่อเนื่องและทุกฝ่ายในสังคมรู้สึกว่าเป็นเจ้าของนโยบายสาธารณะร่วมกัน
              2.1.2 ข้อจำกัดของนโยบายสาธารณะในสังคมไทย  นโยบายสาธารณะที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ส่วนใหญ่ออกมาจากฝ่ายการเมือง ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายราชการ โดยภาคประชาชน และวิชาการมีส่วนร่วมน้อย สรุปเป็นจุดอ่อนได้ดังนี้
                       1) ประชาชนเข้าไม่ถึงกระบวนการนโยบายสาธารณะแต่กลับกลายเป็นเรื่องเฉพาะของฝ่ายการเมือง ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายราชการ ประชาชนอาจได้เข้าร่วมบ้างให้ดูพอเป็นพิธีเท่านั้น การแก้จุดอ่อนนี้ รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2540 ได้เขียนไว้ชัดเจน ตัวอย่างในมาตรา 76 ก็ระบุไว้ว่า "รัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดนโยบาย การตัดสินใจทางการเมือง การวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมและการเมือง รวมทั้งการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐทุกระดับ" แต่ในทางปฏิบัติยังไม่ค่อยเป็นไปตามเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญสักเท่าใด
                      2) ให้ความสำคัญของคุณค่าและมิติต่างๆ อย่างไม่สมดุลโดยนโยบายสาธารณะส่วนใหญ่มุ่งไปที่เรื่องของเศรษฐกิจและการได้โอกาสของคนบางกลุ่ม ในขณะที่คนส่วนใหญ่เสียโอกาสและเสียเปรียบ เช่น นโยบายสาธารณะในการพัฒนาเส้นทางคมนาคมขนส่ง ที่มุ่งที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจและความสะดวกสบายของคนที่มีโอกาส ใช้รถใช้ถนนมากกว่าส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนในชุมชนและผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ที่ถนนตัดผ่าน เป็นต้น
                      3) การสร้างนโยบายสาธารณะ ขาดข้อมูลหลักฐานทางวิชาการที่มีน้ำหนักเพียงพอ สร้างนโยบายขึ้นจากผลประโยชน์ ของคนบางกลุ่มบางหมู่ ขาดการคำนึงถึงผลกระทบที่รอบด้าน
                     4) ขาดกระบวนการประเมินผลกระทบและการกำหนดทางเลือกที่หลากหลาย โดยเมื่อกำหนดเป็นนโยบายสาธารณะและลงมือดำเนินการไปแล้ว ไม่มีกลไกวิธีการในการประเมินผลกระทบด้านต่างๆ และขาดการคิดทางเลือกที่หลากหลายและประชาชนไม่ค่อยได้มีส่วนร่วมเลือกทางเลือกเหล่านั้น เช่น นโยบายพัฒนาพลังงานที่ไปสู่การพัฒนาพลังงานกระแสหลักที่มุ่งรับใช้การพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรม เป็นต้น
                     5) ขาดระบบการติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผลนโยบายสาธารณะต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น และได้ลงมือดำเนินการไปแล้ว ผลกระทบที่เกิดจากนโยบายสาธารณะต่างๆ จึงสะสมพอกพูน ไม่ได้รับการแก้ไขหรือปรับเปลี่ยนนโยบายเท่าที่ควร
  2.1.3 นโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ (Health Public Policy) องค์การอนามัยโลก ให้ความหมายของนโยบายสาธารณะที่เอื้อต่อสุขภาพไว้ว่านโยบายสาธารณะที่แสดงความห่วงใยอย่างชัดเจนในเรื่องสุขภาพ พร้อมที่จะรับผิดชอบต่อผลกระทบทางสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นจากนโยบายนั้น ขณะเดียวกันก็เป็นนโยบายที่มุ่งดำเนินการต่างๆ ที่ให้ความสำคัญต่อสุขภาพ / สุขภาวะ สร้างเสริมสิ่งแวดล้อมทั้งทางสังคมและกายภาพ ที่เอื้อต่อการมีชีวิตที่มีสุขภาพดีและมุ่งให้ประชาชนมีทางเลือกและสามารถเข้าถึงทางเลือกที่ก่อให้เกิดสุขภาพดีได้เพื่อเป็นการสร้างหลักประกันความมั่นคงด้านสุขภาพให้กับประชาชนชนว่าจะมีสุขภาพดีหรือไม่เสียสุขภาพอย่างไม่สมควร   โดยผู้มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ มีหลายฝ่าย ได้แก่ รัฐบาล ราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน และปัจเจกชนเอง
                     1) วิธีการสร้างนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ
                         การจะทำให้รัฐบาล ราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน และสังคมภาคส่วนต่างๆ สร้างนโยบายสาธารณะที่เอื้อต่อการมีสุขภาพ / สุขภาวะจำเป็นต้องมีการส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดสิ่งต่างๆ ได้แก่
                         (1) ต้องช่วยกันสร้างความตระหนักในคุณค่าของสุขภาพ ที่มีความหมายกว้างว่า เป็นเรื่องของสุขภาวะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ ด้วยความรับผิดชอบของทุกฝ่ายในสังคม ไม่ใช่เป็นเรื่องแค่การป่วย-ไม่ป่วยและการได้รับบริการสาธารณสุขเพียงเท่านั้น ซึ่งตรงนี้ต้องอาศัยกระบวนการทำงานร่วมกับกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันอย่างต่อเนื่องไม่มีที่สิ้นสุด
                         (2) ฝ่ายที่ทำงานทางวิชาการต้องสนับสนุนข้อมูลหลักฐานเกี่ยวกับผลกระทบด้านสุขภาพ จากการดำเนินการนโยบายสาธารณะต่าง ๆ โดยนำเสนอข้อมูลต่าง ๆ ต่อสาธารณะ เพื่อชวนทุกฝ่ายในสังคมเข้ามาร่วมคิด ร่วมทำ ฝ่ายรัฐเองก็ต้องสนับสนุนให้ฝ่ายวิชาการได้ศึกษาวิจัย พัฒนาองค์ความรู้เหล่านี้อย่างเพียงพอต่อเนื่อง
                       (3) สร้างเครือข่ายการเรียนรู้ร่วมกัน การสื่อสารเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ เพื่อร่วมรับผิดชอบสังคมที่จะนำไปสู่การมีสุขภาพ / สุขภาวะร่วมกัน ซึ่งในประเทศที่พัฒนาแล้ว จะมีบรรยากาศเช่นนี้ค่อนข้างดี
                      (4) ช่วยกันนำเสนอทางเลือกของนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ ที่สามารถปฏิบัติได้ให้มากๆ เพื่อให้ทุกฝ่ายในสังคมช่วยกันคิดต่อ ช่วยกันผลักดันต่อ ให้ประสบผลสำเร็จโดยไม่รอให้ฝ่ายรัฐ ฝ่ายราชการ ฝ่ายทุนคิดเท่านั้น เช่น นโยบายสร้างเส้นทางการคมนาคมด้วยรถจักรยาน ซึ่งไม่ต้องใช้พลังงานกระแสหลัก เป็นมิตรกับธรรมชาติ และเกิดสุขภาพดี เป็นต้น
                       (5) เข้าร่วมกระบวนการสร้างนโยบายสาธารณะ เพื่อให้ได้นโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพที่ดี โดยทุกฝ่ายในสังคมต้องช่วยกันพัฒนาจิตสำนึกเข้าสู่การเป็นพลเมืองที่สนใจเรื่องของส่วนรวมและกระตือรือร้น ร่วมคิดร่วมสร้างนโยบายสาธารณะเพื่อพัฒนาสังคมร่วมกัน
         2) เครื่องมือสร้างนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ เครื่องมือสร้างนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพมีหลายชนิด ในที่นี้จะเสนอ 2 แบบคือ
                       (1) ใช้กระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะ (Policy formulation process) ใช้ขั้นตอนกำหนดนโยบายต่างๆ ที่ใช้กันโดยทั่วไป แต่ที่ผ่านมาสังคมไทยยังไม่ค่อยได้ใช้กระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะ อย่างเป็นขั้นตอนตามหลักวิชาการเช่นนี้ นโยบายสาธารณะหลายอย่างขึงเกิดขึ้นจากสามัญสำนึกจากฝ่ายที่มีอำนาจมีผลประโยชน์ และเกิดจากความเชื่อของผู้กำหนดนโยบายมากกว่าข้อมูลตามกระบวนการทางวิชาการ  สังคมไทยจำเป็นต้องหันมาสร้างกระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะอย่างเป็นระบบและมีหลักวิชาการมากขึ้น  การกำหนดนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพต้องมีขั้นตอนโดยแต่ละขั้นตอนต้องคำนึงถึง 3 ประเด็นใหญ่ คือ ความรู้ การเมือง และสังคม ในขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงปัจจัยสำคัญต่างๆ ที่มีผลต่อสุขภาพไปพร้อม ๆ กันด้วย
                       (2) ใช้กระบวนการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (Health impact assessment : HIA) การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ จากนโยบายสาธารณะเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งที่สามารถนำไปสู่การมีนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพที่ดี     การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพเป็น "กระบวนการทางปัญญา" มากว่ากระบวนการทางกฎหมายหรือการใช้อำนาจ เป็นเครื่องมือการเรียนรู้ร่วมกันทางวิชาการและทางสังคม เป็นกระบวนการประมาณผลกระทบที่จะเกิดกับสุขภาพของประชาชนและชุมชนจากนโยบายสาธารณะที่เกิดจากรัฐ เอกชน ท้องถิ่นและเกิดจากชุมชนเอง นำไปสู่การกำหนดทางเลือก การตัดสินใจเลือกทางเลือก การหาแนวทางลดผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดขึ้นจากทางเลือกนโยบายต่างๆ เพื่อให้คนและชุมชนมีสุขภาวะร่วมกัน
         3) คำประกาศนโยบายและเป้าหมาย "เมืองไทยแข็งแรง" (Healthy Thailand) 
(1) ด้านความแข็งแรงของสุขภาพ ในมิติทางกาย (Physical Health)
     .คนไทยที่มีอายุ 6 ปีขึ้นไป ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสุขภาพในทุก
หมู่บ้าน ทุกตำบล ทุกชุมชน ทุกหน่วยงาน และสถานประกอบการ
                 .คนไทยได้รับอาหารที่ปลอดภัย มีคุณค่าทางโภชนาการ และเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย จากแหล่งผลิตอาหารที่ปลอดสารพิษปนเปื้อน ตลาดสด ร้านอาหาร และแผงลอยจำหน่ายอาหารทุกแห่งได้มาตรฐานสุขอนามัย สถานที่ผลิตอาหารทุกแห่ง ผ่านหลักเกณฑ์วิธีการผลิตที่ดี (Good Manufacturing Practice ,GMP )
                             .คนไทยมีอายุขัยเฉลี่ยยืนยาวขึ้น พร้อมสุขภาพทีแข็งแรง อัตราการป่วย และตาย ด้วยโรคที่เป็นสาเหตุการตายอันดับต้นๆ ของคนไทยลดน้อยลง อย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรคเอดส์ โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคไข้เลือดออก และโรคเบาหวาน
                             .คนไทยลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และยาสูบ
                             .คนไทยมีอัตราการบาดเจ็บและตายด้วยอุบัติเหตุน้อยลง
                             .คนไทยทุกคนมีหลักประกันการเข้าถึงบริการ ที่ได้มาตรฐาน
                        (2) ด้านความแข็งแรงของสุขภาพในมิติทางจิตใจ (Mental Health)
                             .คนไทยมีครอบครัวที่อบอุ่น เด็ก และผู้สูงอายุได้รับการดูแลเอาใจใส่จากครอบครัว
                 .คนไทยมีอัตราการฆ่าตัวตาย ตลอดจนการป่วยด้วยโรคทางจิต ประสาทลดน้อยลง
                             .คนไทยมีความฉลาดทางสติปัญญา (I.Q.) และความฉลาดทางอารมณ์ (E.Q.) เพิ่มมากขึ้นในระดับที่ต้องไม่ ต่ำกว่าเกณฆ์มาตรฐานสากล
            (3) ด้านความแข็งแรงของสุขภาพในมิติทางสังคม (Social Health) และเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy)
                             .คนไทยมีความปลอดภัย จากอาชญากรรม และความรุนแรงที่ก่อให้เกิดการประทุษร้ายต่อชีวิต ร่างกายและจิตใจ การประทุษร้ายทางเพศและการประทุษร้ายต่อทรัพย์สิน
                             .คนไทยทุกคนได้รับการศึกษา ในระบบโรงเรียนไม่น้อยกว่า 12 ปี และมีโอกาสเรียนรู้ต่อเนื่องตลอดชีวิต เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ และเกิดทักษะทางสุขภาพ (Health Skill) และทักษะการดำเนินชีวิตอย่างเหมาะสม (Lift Skill)
                             .คนไทยมีสัมมาอาชีพ และมีรายได้ที่เพียงพอ ต่อการดำรงชีวิตอย่างปกติสุข
                             .คนไทยมีที่อยู่อาศัยที่ถูกสุขลักษณะ มีน้ำสะอาดเพื่ออุปโภค บริโภค เพียงพอ และดำรงชีวิตในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี
                      (4) ด้านความแข็งแรงของสุขภาพในมิติทางปัญญา / จิตวิญญาณ (Spiritual Health)
                             .คนไทยลด ละ เลิกอบายมุข และสิ่งเสพติด
                             .คนไทยมีความรู้รักสามัคคี มีความอาทรเกื้อกูลกัน
                             .คนไทยมีสติ และปัญญา แก้ไขปัญหาความขัดแย้งรุนแรงต่างๆ ด้วยเหตุผล และสันติวิธี
                             .คนไทยยึดมั่นในหลักศาสนธรรม และวัฒนธรรมที่ดีงาม
นโยบายเมืองไทยแข็งแรงเป็นการเคลื่อนไหวผลักดันงานสร้างเสริมสุขภาพและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทย นับได้ว่าเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศที่สำคัญที่รัฐบาลกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติเพื่อให้เกิดความร่วมแรงร่วมใจของภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน อาสาสมัคร ภาคประชาชนจะได้มีส่วนรวมพลังเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะและความแข็งแรงของคนไทย ทั้งในมิติทางร่างกาย และจิตใจสอดรับกับสภาพสังคมไทยในปัจจุบันที่มีความซับซ้อน เปลี่ยนแปลงเร็วซึ่งการให้จะให้หน่วยงานหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่ง ดำเนินการแต่เพียงลำพัง คงไม่สามารถทำงานได้สำเร็จแต่หากให้ทุกภาคส่วนของสังคม ช่วยกันดำเนินการทำงานร่วมกัน
         ทั้งนี้การสร้างนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพที่ดีควรเป็น "กระบวนการนโยบายสาธารณะ แบบมีส่วนร่วมไม่ใช่ช่องทางการกำหนดนโยบายสาธารณะจากฝ่ายหนึ่งฝ่ายเดียวหรือช่องทางการกำหนดนโยบายสาธารณะแบบปิด  การเริ่มต้นของกระบวนการจะเริ่มต้นจากด้านใดก็ได้ แต่ต้องเชื่อมโยงดึงให้ทุกฝ่าย เข้ามามีส่วนร่วมอย่างจริงจังไม่ใช่มีส่วนร่วมแบบพอเป็นพิธี
            2.2 การก่อให้เกิดสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ (Create supportive environment)
                 สิ่งแวดล้อม คือ ทุกสิ่งที่อยู่รอบตัวมนุษย์ทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและมนุษย์สร้างขึ้นทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต  ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม  สิ่งแวดล้อมมีอิทธิพลต่อสุขภาพนับตั้งแต่ปฏิสนธิจนถึงวินาทีสุดท้ายของชีวิต
                 สิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ (Supportive environments for health)  หมายถึง  สิ่งที่ช่วยปกป้องประชาชนให้พ้นภัยต่างๆที่คุกคามสุขภาพ และช่วยเพิ่มความสามารถและพัฒนาการพึ่งพาตนเองด้านสุขภาพได้ สิ่งแวดล้อมนี้  ได้แก่  สถานที่อยู่อาศัย  ชุมชนอันเป็นภูมิลำเนา  บ้านเรือน สถานที่ทำงาน สถานที่เล่น รวมทั้งการเข้าถึงทรัพยากรต่าง ๆ เพื่อสุขภาพและโอกาสที่ประชาชนจะมีอำนาจเพิ่มขึ้น
               จะเห็นได้ว่าสิ่งแวดล้อมเฉพาะแห่งที่ต่างกันจะมีอิทธิพลต่อบุคลิกลักษณะของบุคคล แตกต่างกันไปและมักกำหนดได้โดยปัจจัยด้านสังคมและชีววิทยาซึ่งโดยทั่วไปก็หมายถึงครอบครัวและแรงผลักดันระดับชาติ เช่น กลุ่มประชาชน สื่อมวลชน และระบบสื่อสาร จะมีอิทธิพลต่อการกระจายรายได้  โอกาสในการศึกษา สถานที่อยู่อาศัย วิถีการดำเนินชีวิต และท้ายที่สุดพฤติกรรมสุขภาพ และการรับสัมผัสสิ่งคุกคามสุขภาพอนามัย ยกตัวอย่างเช่น วัยหนุ่มสาวที่ต้องทำงานหาเลี้ยงชีพ จะต้องรับสัมผัสสารพิษ และการบาดเจ็บ เนื่องจากการทำงานโดยไม่สามารถป้องกันตนเองได้ เนื่องจากยังไม่ตระหนักถึงอันตรายหรือผู้ประกอบการอาจฝ่าฝืนกฎหมายความปลอดภัย ที่คุ้มครองแรงงาน (สสิธร  เทพตระการพร,2546:32)
        หลังจากคลอดไปจนตลอดชีวิต มนุษย์จะต้องเผชิญกับสิ่งแวดล้อมทั่วไปด้วยตนเอง  ได้แก่ สิ่งแวดล้อมทางเคมี ชีวภาพ กายภาพ และระบบความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์  ซึ่งจะมีอิทธิพลต่อสิ่งแวดล้อมด้วย  อย่างไรก็ดีมนุษย์มีความสามารถในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงและแก้ไขสิ่งแวดล้อมได้  ดังนั้นความพยายามในการควบคุมดูแลสิ่งแวดล้อมทุกด้านเพื่อให้อำนวยประโยชน์ต่อสุขภาพทั้งของตนเอง และส่วนรวมจึงเป็นสิ่งที่ควรกระทำอย่างยิ่งเนื่องจากสุขภาพไม่สามารถแยกออกจากเป้าหมายอื่น ๆ ของสังคมได้  ความเกี่ยวพันอย่างแยกไม่ออกระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมนี้ เป็นพื้นฐานสำหรับการใช้หลักการสังคมนิเวศวิทยาในเรื่องสุขภาพ
                2.2.1 นัยยะของสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ การสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพนี้จะมีความหมายใน 2 นัยยะ คือ
                 1) การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ในระดับชุมชน ระดับประเทศ และระดับโลก ทั้งนี้เนื่องจากสมดุลย์ของธรรมชาติย่อมมีผลโดยตรงต่อการมีสุขภาพดีของมวลมนุษย์ การปกป้องรักษาสิ่งแวดล้อม ทั้งที่เป็นธรรมชาติและที่สร้างขึ้นและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติจะต้องเป็นกลยุทธ์ของการสร้างเสริมคุณภาพชีวิต
                 2)การจัดสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของการดำเนินชีวิต สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วจะต้องได้รับการประเมินอย่างเป็นระบบโดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของเทคโนโลยี การผลิตพลังงานและความเป็นเมือง  การประเมินนี้จะต้องตามด้วยการปฏิบัติการอันจะให้ผลบวกต่อสุขภาพของประชาชน  โดยการสร้างสังคมที่มีสุขภาพดี (Healthy society) การสร้างเมืองที่มีสุขภาพดี (Healthy city) การจัดที่ทำงานที่เอื้อต่อสุขภาพ (Healthy workplace) และการทำให้เป็นโรงเรียนเพื่อสุขภาพ (Healthy school) เป็นต้น
                2.2.2 สิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพมีหลายมิติ คือ
                       1) มิติทางสังคม ความเป็นปกติ (Norms) ขนบธรรมเนียมประเพณีและขบวนการทางสังคมต่าง ๆ มีผลต่อสุขภาพในหลายสังคม  ความสัมพันธ์แบบสังคมดั้งเดิมกำลังเปลี่ยนแปลงไปอันจะเกิดผลกระทบต่อสุขภาพ ตัวอย่างในกรณีเหล่านี้ ได้แก่ ความโดดเดี่ยวทางสังคมเพิ่มขึ้น และความท้าทายต่อคุณค่าแบบดั้งเดิมและมรดกทางวัฒนธรรมลดลง
                    2) มิติทางการเมือง การสร้างเสริมคุณภาพชีวิตจะเกิดขึ้นได้เมื่อรัฐรับประกันให้มีการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจตามขบวนการประชาธิปไตยและให้มีการกระจายอำนาจในเรื่องของทรัพยากรและความรับผิดชอบนอกจากนี้รัฐจำต้องยอมรับในสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ
                    3) มิติทางเศรษฐกิจรัฐจำต้องปรับเปลี่ยนการกระจายทรัพยากรเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ สุขภาพดีถ้วนหน้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน
        ดังนั้น นอกจากจะให้ความสนใจกับสุขภาพอนามัยของตนเองแล้ว  ทุกคนควรจะให้ความสนใจและให้ความสำคัญในการดูแลสิ่งแวดล้อมโดยรอบตัวเราด้วยซึ่งสิ่งแวดล้อมรอบตัวเรานี้จะเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของตัวบุคคลโดยตรง การดูแลในทุกๆ ด้านพร้อมกันไปในลักษณะเบ็ดเสร็จแบบผสมผสาน หรือในลักษณะองค์รวม (Holistic) แบบบูรณาการ เพื่อให้เกิดผลกระทบในทางที่ดีต่อสุขภาพของบุคคล  ในการดำเนินการดังกล่าวนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานด้าน อนามัยชุมชน ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับเรื่องของสุขภาพและชุมชน ในชุมชนที่มีลักษณะต่าง ๆ กัน ตามแต่สภาพทางภูมิศาสตร์ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี ของกลุ่มชนนั้นๆ โดยมาตรฐานความพอเหมาะของการมีสุขภาพดีนั้นถูกกำหนดด้วยลักษณะทางสังคม ซึ่งจะแปรผันไปตามลักษณะของสังคมนั้น ๆ         
                2.2.3 หลักการดำเนินงานพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ
                       1) การสำรวจสุขภาพชุมชนโดยการศึกษาสังเกต รวบรวมข้อมูลต่าง ๆ จากชุมชน
                       2) การวินิจฉัยสุขภาพชุมชนเพื่อให้เห็นว่าอะไรคือปัญหาของชุมชน ปัญหามีลักษณะอย่างอย่างไร
                       3) การเลือกเกณฑ์เพื่อนำมาเลือกปัญหา (Priority Setting) โดยใช้เกณฑ์ที่เหมาะสมกับแต่ละสถานการณ์
                      4) การหาสาเหตุและปัจจัยต่าง ๆ ของปัญหาที่เกิดจากสิ่งแวดล้อม
                      5) การหาแนวทางแก้ไขปัญหาและดำเนินการแก้ไข
                      6) การควบคุมและติดตามงาน
                      7) การประเมินผล
การเสริมสร้างศักยภาพ ความเข้มแข็งของประชาชนและทุกภาคส่วนในชุมชน เพื่อนำไปสู่สำนึกความเป็นเจ้าของ การมีจิตสำนึกต่อส่วนรวม จากทุกภาคส่วนในสังคมและความร่วมมือ อันจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและสร้างสภาพแวดล้อมที่น่าอยู่ที่มีพันธมิตรร่วมเคลื่อนไหว และดำเนินการอย่างกว้างขวางสิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่แนวทางในการสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพอย่างยั่งยืน
2.3 การเสริมสร้างกิจกรรมชุมชนให้เข้มแข็ง (Strengthen community action)
                 การเสริมสร้างกิจกรรมชุมชนหรือเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนสามารถช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตได้ โดยการจัดลำดับความสำคัญ  ทำการตัดสินใจ กำหนดกลยุทธ์และดำเนินการตามแผนเพื่อให้ระดับสุขภาพของประชาชนในชุมชนดีขึ้น รัฐอาจให้การสนับสนุนชุมชนโดยการตัดสรรงบประมาณและให้การปรึกษาทางวิชาการ  ชุมชนต้องยืนด้วยตนเองโดยมีการจัดการที่ดี มีกลุ่มช่วยตนเองและพัฒนาระบบงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการสร้างเสริมพลังอำนาจชุมชน (Community empowerment)
     การเสริมสร้างพลังอำนาจชุมชน (Empowerment)  เป็นกระบวนการเพิ่มพลังส่วนตัว พลังความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลหรือพลังทางการเมืองให้แก่ชุมชนที่ต้องเผชิญกับปัญหาในชีวิตประจำวันและรู้สึกว่าชุมชนอ่อนแอ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้หรือแม้แต่ชุมชนที่ต้องการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานสวัสดิการสังคมของชุมชนให้ดียิ่งขึ้น   เพื่อให้บุคคลสามารถปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งในการแก้ไขปัญหาหรือปรับปรุงสภาพแวดล้อมในชีวิตของตนเองได้
                2.3.1 ประโยชน์ของการเสริมสร้างพลังอำนาจชุมชน   การเสริมสร้างพลังอำนาจชุมชน นอกจากจะเป็นการดึงศักยภาพของชุมชนมาใช้เพื่อช่วยเหลือตนเองให้ได้แล้วยังจะต้องเป็นทรัพยากรส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือชุมชนอื่นที่ประสบปัญหาใกล้เคียงกัน ทั้งการช่วยเหลือทางด้านจิตใจหรือการมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์คิดค้นบริการที่เหมาะสมกับความต้องการของชุมชนนั้น ๆ ซึ่งอันจะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนดังต่อไปนี้
           1) ก่อให้เกิดความเชื่อมั่นในคุณค่าของชุมชนตนเอง มีความเป็นชุมชน มีเอกลักษณ์ของชุมชน มีทัศนคติที่ดีต่อการเปลี่ยนแปลง ไม่ท้อแท้ หมดหวังกับสภาพปัญหา มีกำลังใจที่จะเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงด้วยความคาดหวังถึงการทำให้ชุมชนดีขึ้น
          2) เกิดความเชื่อมั่นในประสบการณ์ที่สั่งสม กระบวนการเสริมสร้างพลังอำนาจจะต้องทำให้ตระหนักว่าประสบการณ์สามารถถ่ายทอดให้เกิดประโยชน์กับบุคคลอื่นได้ เพื่อเป็นการปลุกจิตสำนึกร่วมกันระหว่างชุมชนที่ประสบปัญหาใกล้เคียงกัน
          3) เกิดความรู้และทักษะในการคิดอย่างมีเหตุผล เมื่อผ่านกระบวนการเสริมสร้างพลังอำนาจ ชุมชนจะสามารถคิดวิจารณ์อย่างมีเหตุผลเกี่ยวกับปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายในที่มีผลต่อการเกิดปัญหา รวมทั้งสามารถระบุโครงสร้างของปัญหาและผลกระทบในระดับมหภาคได้
เท่า ๆ กับความสามารถในการวิเคราะห์ระดับจุลภาค นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดทักษะที่จำเป็นในการเข้าถึงข่าวสารข้อมูล แนวทางการปฏิบัติงาน การลงมือปฏิบัติงานและการประเมินงาน
                      4) สามารถพัฒนากลยุทธวิธีการปฏิบัติงาน สรรหาทรัพยากร ความรู้และทักษะที่จำเป็นและมีอิทธิพลต่อโครงสร้างของปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายในชุมชนจะเกิดการเรียนรู้ที่จะรับผิดชอบต่อการลงมือปฏิบัติการและมีความพยายามที่จะร่วมมือกับชุมชนอื่นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของชุมชนตนเองหรือก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมของชุมชน
             2.3.2 มิติเชิงนโยบายเกี่ยวกับการเสริมสร้างพลังอำนาจชุมชน ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ..2540 มีสาระที่แสดงเจตนารมณ์ส่งเสริมพลังอำนาจและความเข้มแข็งของชุมชนอยู่ในมาตราต่างๆ มากมาย อาทิ
ในมาตรา 45 ระบุถึงเสรีภาพในการรวมตัวกันของบุคคล เพื่อเสริมสร้างพลังอำนาจความเป็น "กลุ่ม" และ "ชุมชน" ของคนในชุมชนนั้น ๆ โดยการรวมตัวกันเป็นพลังที่เข้มแข็งขึ้น "บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมตัวกันเป็นสมาคม สหภาพ สหพันธ์ กลุ่มเกษตรกร องค์กรเอกชน หรือหมู่คณะอื่น"
มาตรา 78 กล่าวถึง การกระจายอำนาจในท้องถิ่น เน้นความมีส่วนร่วมของคนในชุมชนให้ชุมชนมีอำนาจในการจัดการตนเองมากขึ้น "รัฐต้องกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นพึ่งตนเองและตัดสินใจในกิจการท้องถิ่นได้เอง พัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นและระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการตลอดทั้งโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศในท้องถิ่นให้ทั่วถึงและเท่าเทียมกันทั่วประเทศ รวมทั้งพัฒนาจังหวัดที่มีความพร้อมให้เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ โดยคำนึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชนในจังหวัดนั้น"
มาตรา 79 กล่าวถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นอีกกระบวนการหนึ่งในการเสริมสร้างพลังอำนาจชุมชน โดยการให้ความเป็นเจ้าของในทรัพยากรของชุมชนอย่างเต็มที่ "รัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสงวน บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุล รวมทั้งมีส่วนร่วมในการส่งเสริม บำรุงรักษา และคุ้มครองคุณภาพสิ่งแวดล้อม ตามหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนควบคุมและกำจัดภาวะมลพิษที่มีผลต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชน" เป็นต้น
นอกจากนี้ใน "รายงานการพัฒนาคนของประเทศไทย 2542" ของสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ร่วมมือกับองค์การพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ยังได้เสนอ "ระเบียบวาระเพื่อการปฏิรูปสังคม" ไว้ 11 ข้อ ซึ่งก็ได้มีการเน้นถึงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนไว้หลายข้อ อันได้แก่ การกระจายอำนาจและเสริมสร้างพลังประชาชนอย่างต่อเนื่อง  การพัฒนาประชาธิปไตย  การพัฒนาทุนทางสังคมและวัฒนธรรม  การพัฒนาคุณภาพทรัพยากรมนุษย์  การพัฒนาสิ่งแวดล้อม  การพัฒนาระบบการจัดสรรทรัพยากร  และการพัฒนาดัชนีวัดความกินดีอยู่ดี เป็นต้น
             2.2.3 กระบวนการสร้างพลังอำนาจในชุมชน  การประยุกต์การสร้างพลังอำนาจในชุมชน มักทำคู่ไปกับการกระตุ้นการมีส่วนร่วมกับชุมชนโดยมีส่วนร่วมโดยมุ่งหวังให้เกิดการเรียนรู้ การมีความรู้สึกถึงความเป็นชุมชนโดยใช้กิจกรรมหลักคือ การมีส่วนร่วม  การเรียนรู้ร่วมกัน การสะท้อนความรู้สึก การทำกิจกรรมกระบวนการสร้างพลังอำนาจให้เกิดให้เกิดในระดับจิตวิทยาบุคคล
การสร้างพลังอำนาจชุมชนเป็นไปได้ทั้งแบบไม่เป็นทางการและเป็นทางการ แบบเป็นทางการ คือ การที่ชุมชนมีบทบาทและมีอำนาจการตัดสินใจที่เป็นที่ยอมรับจากภาครัฐ แบบไม่เป็นทางการ คือ การที่ชุมชนมีศักยภาพในการตัดสินใจอย่างเป็นอิสระจากระบบหรือกระบวนการของภาครัฐ
ในทำงานทั้งสองรูปแบบ พอสรุปได้ว่าระดับการมีพลังอำนาจของชุมชนสามารถเรียงจากน้อยไปมาก โดยดูลักษณะกิจกรรมของชุมชนได้ดังนี้
                    1) การมีข้อมูลข่าวสารชุมชนได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องที่มีการตัดสินใจไปแล้ว
                    2) การปรึกษาหารือชุมชนได้รับเชิญให้แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่ความเห็นของชุมชนอาจจะมีหรือไม่มีผลต่อการตัดสินใจก็ได้
                    3) การมีส่วนร่วมแบบเป็นทางการ ชุมชนได้มีการระบุหรือส่งตัวแทนให้เข้าไปมีบทบาทในการตัดสินใจ
                    4) การมีอำนาจตัดสินใจชุมชนมีสิทธิที่จะตัดสินใจเพื่อตนเองและมีวิธีการที่จะดำเนินการตามที่ตัดสินใจ
การมีพลังอำนาจในรูปแบบที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการจะเกิดขึ้นได้ขึ้นกับความสามารถในการรวมกลุ่มของชุมชนเองจึงมักเรียกกันว่า ต้นทุนทางสังคม (Social capital) ชุมชนจะไม่สามารถมีอำนาจแบบเป็นทางการ ถ้าชุมชนไม่สามารถชี้ประเด็นที่สนใจหรือเกี่ยวข้องกับผู้อื่นได้ ในขณะเดียวกันชุมชนก็จะไม่สามารถดำเนินการใด ๆ ได้ถ้าสมาชิกในชุมชนไม่มีทักษะในการรวมกลุ่มและการสื่อสาร ดังนั้นการสร้างพลังอำนาจในชุมชนจึงจำเป็นต้องมีกิจกรรมการรวมกลุ่ม การฝึกทักษะการเรียนรู้และการสื่อสาร
            2.4 การพัฒนาทักษะส่วนบุคคล (Develop personal skill)
                  การสร้างเสริมสุขภาพ สนับสนุนการพัฒนาส่วนบุคคลและสังคม ด้วยการให้ข้อมูล  ให้การศึกษาในเรื่องสุขภาพและการแนะนำทักษะชีวิตด้วยกิจกรรมเหล่านี้ ประชาชนจึงมีทางเลือกเพิ่มขึ้นในการที่จะควบคุมสุขภาพของตนเองและสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ คือ เลือกสรรการปฏิบัติตนให้เอื้อต่อสุขภาพ 
      2.4.1 แนวทางของบุคคลป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพส่วนบุคคล ในการสร้างเสริมทักษะส่วนบุคคลในการดูแลสุขภาพหากพิจารณาองค์ประกอบสำคัญที่เป็นตัวกำหนดสุขภาพ คือ พันธุกรรม สิ่งแวดล้อม พฤติกรรมและบริการสาธารณสุขแล้วจะเห็นว่าบุคคลสามารถป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพส่วนบุคคลได้โดย
                     1) การเฝ้าระวังเพื่อป้องกันความผิดปกติหรือโรคทางพันธุกรรมที่ตนเสี่ยง เนื่องจากแต่ละบุคคลอาจได้รับการถ่ายทอดความผิดปกติหรือโรคทางพันธุกรรม จึงจำเป็นต้องวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการเฝ้าระวัง สังเกต หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง ตรวจสุขภาพและดูแลสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ  เพื่อป้องกันความผิดปกติดังกล่าวไม่ให้เกิดขึ้น  หากมีความผิดปกติหรือโรคทางพันธุกรรมเกิดขึ้นแล้วจะได้ปรับตัวและมีพฤติกรรมสุขภาพเหมาะสมที่ดีที่สุดสำหรับตนเอง
                     2) การเลือกคู่ครองและการวางแผนชีวิตที่เหมาะสม  ตามธรรมชาติของมนุษย์เมื่อถึงวัยรุ่นจะมีความสนใจเพื่อนต่างเพศและเมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ที่สามารถรับผิดชอบการดำเนินชีวิตของตนเองได้ก็จะมีการแสวงหาผู้ที่จะมาร่วมชีวิต  การเลือกคู่ครองนั้นควรใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์  ทั้งนี้ควรคำนึงถึงความเหมาะสมในองค์ประกอบต่าง ๆ  รวมทั้งภาวะสุขภาพและลักษณะทางพันธุกรรมของทั้งสองฝ่ายที่อาจถ่ายทอดไปยังลูกด้วย  ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยในการตัดสินใจวางแผนชีวิตและวางแผนครอบครัวที่เหมาะสม  ป้องกันปัญหาสุขภาพและพันธุกรรมที่อาจเกิดขึ้นกับลูกในอนาคตซึ่งจะส่งผลกระทบไปถึงครอบครัวและสังคมอีกด้วย
                    3) การสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม เนื่องจากสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ เคมี ชีวภาพและสังคมมีอิทธิพลต่อสุขภาพ  การสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างเสริมและป้องกันสุขภาพให้ปราศจากโรค  โดยมุ่งทำการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง รักษาและควบคุมสภาพของสิ่งแวดล้อมให้อยู่ในสภาวะที่เหมาะสมและเอื้ออำนวยต่อการดำรงชีพอย่างมีสุขภาพดี  จึงกล่าวได้ว่า การจัดการสิ่งแวดล้อมทางเคมี ชีวภาพ และกายภาพ โดยอาศัยสิ่งแวดล้อมทางสังคมที่มนุษย์สร้างขึ้น อันได้แก่ กฎระเบียบ ข้อบังคับและอื่น ๆ ช่วยทำให้บุคคลมีสุขภาพดี
                   4) สุขปฏิบัติ การปฏิบัติเพื่อสุขภาพเป็นสิ่งที่หยิบยื่นให้กันไม่ได้  การปฏิบัติที่ดีเพื่อสุขภาพจึงต้องกระทำต่อเนื่องและตลอดเวลาเพื่อให้เกิดผล คือ สุขภาพดีอย่างยั่งยืน
     2.4.2 การสร้างเสริมทักษะการดูแลสุขภาพทางกายส่วนบุคคลประกอบด้วย
                          1) สุขปฏิบัติเกี่ยวกับการรับประทานอาหาร
                              (1) เลือกซื้ออาหาร สดใหม่ ปลอดภัย ปลอดสารพิษ คุณภาพดี ราคาเหมาะสมจากตลาดสดที่มีคุณภาพ สะดวก สะอาด บรรยากาศดี ผู้ขายอัธยาศัยและสุขอนามัยดี (ตลาดสด น่าซื้อ)
                              (2) ปรุงอาหารให้ถูกสุขลักษณะ เลือกใช้เครื่องปรุงที่มีคุณค่าทางอาหาร ถูกต้องตามหลักโภชนาการและหากจำเป็นต้องซื้อจากร้านอาหาร  ควรซื้อจากร้านที่ได้มาตรฐาน โดยสังเกตป้ายสัญลักษณ์ อาหารสะอาด รสชาติอร่อย
                             (3) กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ทุกวันอย่างสม่ำเสมอ หลังรับประทานอาหารไม่ควรอาบน้ำหรือออกกำลังกายทันที
                             (4) กินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ๆ และควรใช้ ช้อนกลาง หากต้องกินร่วมกันหลายคน เพื่อป้องกันโรคที่อาจติดต่อได้ทางน้ำลาย เช่น ไข้หวัด ไวรัสตับอักเสบ วัณโรคและอื่น ๆ
                              (5) หลีกเลี่ยง อาหารสุก ๆ ดิบ ๆ หรืออาหารรสจัด อาหารหมักดอง อาหารใส่สี เพราะมักมีสารตะกั่ว สารหนู โครเมียมปนอยู่ซึ่งก่อให้เกิดโรคร้ายเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
                            (6) ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อย วันละ 8 แก้วแต่ไม่ควรดื่มน้ำมากในขณะรับประทานอาหาร
                            (7) ควรมีภาชนะปิดให้มิดชิดเพื่อป้องกันแมลงวันและสัตว์อื่น ๆ
                            (8) รับประทานอาหารช้า ๆ เคี้ยวให้ละเอียด ไม่พูดคุย หัวเราะและอ่านหนังสือในขณะรับประทานอาหาร
                            (9) ควรแปรงฟัน บ้วนปาก ล้างมือหลังรับประทานอาหาร
                           (10) ทำความสะอาดภาชนะ อุปกรณ์ต่างๆ จัดเก็บตามหลักสุขาภิบาลอาหาร
                      2) สุขปฏิบัติเกี่ยวกับการพักผ่อน การพักผ่อนเป็นกิจกรรมที่มีความจำเป็นต่อสุขภาพมาก เช่นเดียวกับการปฏิบัติตัวทางสุขภาพ หรือสุขปฏิบัติด้านอื่น ๆ  คนทั่วไปมักเข้าใจว่า การพักผ่อนหมายถึงการนอนหลับเพียงอย่างเดียว  ทั้งที่จริงแล้วการพักผ่อนของบุคคลแต่ละคนอาจมีความหมายแตกต่างกัน  เช่น หมายถึง ความเป็นอิสระจากการถูกรบกวนจากสิ่งแวดล้อมภายนอก หรือหมายถึง การที่เขามีเวลาตามลำพังเป็นส่วนตัว ไม่ว่าการพักผ่อนจะมีความหมายอย่างไรก็ตาม  หากเรารู้จักเลือกวิธีการพักผ่อนที่เหมาะสมก็จะเป็นการสร้างเสริมสุขภาพที่สำคัญอีกทางหนึ่ง
                     3) การระวังรักษาอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกาย  สุขภาพส่วนบุคคลอันประกอบด้วยอวัยวะของร่างกายของมนุษย์นับตั้งแต่สุขภาพผิวหนัง ฟัน จมูก ปาก หู มือและเท้า  นับเป็นอวัยวะส่วนภายนอกที่มีความสำคัญต่อสุขภาพเป็นอย่างยิ่ง 
2.5 การปรับเปลี่ยนบริการสุขภาพ (Reorient health services)
                 สถานบริการสุขภาพจะต้องมีความรับผิดชอบงานสร้างเสริมสุขภาพ  ด้วยการแบกภาระร่วมกันของปัจเจกบุคคล  กลุ่มชุมชน  นักวิชาการสุขภาพ  สถาบันบริการสุขภาพและรัฐบาล  ทั้งหมดนี้จะต้องทำงานร่วมกันเพื่อให้ระบบบริการสุขภาพมีส่วนสนับสนุนอย่างสำคัญในการยกระดับสุขภาพของประชาชน
               ภาคสุขภาพต้องเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องไปในทิศทางของการสร้างเสริมสุขภาพ  นอกเหนือไปจากความรับผิดชอบในการให้บริการทางคลินิกและการรักษา  บริการสุขภาพต้องขยายภารกิจในการสนับสนุนปัจเจกบุคคลและชุมชน เพื่อที่มีสุขภาพดีขึ้นและเปิดช่องทางต่างๆ ขึ้นเพื่อการติดต่อประสานงาน ระหว่าง ภาคสุขภาพกับองค์ประกอบทางสังคม  การเมือง  เศรษฐกิจและสภาพแวดล้อมทางกายภาพ
             อำพล จินดาวัฒนะ  และคนอื่น ๆ (2549) ได้เสนอทิศทางการปรับเปลี่ยนบริการสุขภาพภาครัฐโดยเฉพาะของกระทรวงสาธารณสุขในช่วงปี พ.. 2550-2559 ดังนี้
1.สถานบริการสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข ระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกันควรปรับรวมกันเป็นนิติบุคคลที่เป็นหน่วยงานของรัฐที่มิใช่ราชการในกำกับกระทรวงสาธารณสุขด้วยการออกกฎหมายเฉพาะพื้นที่อาจหมายถึงพื้นที่จังหวัดเดียวกันหรือพื้นที่กลุ่มจังหวัดเดียวกันหรือพื้นที่เขตเดียวกัน สำหรับสถานีอนามัย ควรรวมเข้าเป็นส่วนหนี่งของนิติบุคคลข้างต้นหรือถ่ายโอนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อทำงานด้านสาธารณสุข
2. สถานบริการสุขภาพเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ควรปรับเป็นนิติบุคคลที่เป็นหน่วยงานของรัฐที่มิใช่ราชการภายใต้กำกับของกระทรวงสาธารณสุขด้วยการออกกฎหมายเฉพาะ
           3. ควรมีการจัดตั้งกลไกเฉพาะขึ้นในส่วนกลางทำหน้าที่ดูแลการประสานนโยบายและทิศทางการจัดบริการสุขภาพในภาพรวม
           4.การบริหารจัดการนิติบุคคลและกลไกที่ตั้งขึ้นใหม่ ควรใช้รูปแบบคณะบุคคลที่เปิดให้ฝ่ายต่างๆ ได้แก่ฝ่ายราชการ ฝ่ายวิชาชีพ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมด้วย
        การปรับเปลี่ยนบริการสุขภาพต้องการงานวิจัยทางสาธารณสุข และการเปลี่ยนแปลงในการศึกษาและการฝึกอบรมทางวิชาชีพทั้งหมดนี้ต้องนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทัศนคติและการจัดองค์กรของบริการสุขภาพซึ่งสร้างจุดสนใจใหม่ในความต้องการทั้งหมดของปัจเจกบุคคลในความเป็นคนทั้งคน

บทสรุป
                การพัฒนาสุขภาพชุมชนหรือการสาธารณสุขเป็นวิทยาศาสตร์ และศิลปะแห่งการป้องกันโรค โดยให้ประชาชนที่อยู่รวมกันในชุมชนมีสภาพของร่างกายที่แข็งแรง สมบูรณ์และอยู่ในสังคมที่ดี งานด้านสุขภาพชุมชนมีหลักการดำเนินงานที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน โดยมี บุคคลสิ่งแวดล้อมและการบริการเป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงาน กระบวนการดำเนินงานพัฒนาสุขภาพชุมชนประกอบไปด้วย การเข้าใจแนวทางการพัฒนาสุขภาพชุมชน การส่งเสริมสุขภาพและการดูแลสุขภาพตนเอง ทั้งนี้ชุมชนต้องคำนึงถึงปัจจัยทั้งด้านบุคลากร งบประมาณและให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมทุกขั้นตอนของการดำเนินงานกิจกรรม ซึ่งฐานคิดการทำงานสุขภาพชุมชนแบบมีส่วนร่วมนี้จะทำให้เกิดบทเรียนร่วมกันภายในของชุมชนที่จะเป็นภูมิคุ้มกันให้กับชุมชน ให้ชุมชนรู้จักตัวเอง เข้าใจตัวเอง และจัดการตัวเองให้เป็นโดยยึดหลักการสำคัญในการทำงานร่วมกัน คือ การให้ชุมชนเป็นเจ้าของเรื่อง หน่วยงานราชการเป็นเพียงผู้ประสาน กระตุ้นให้เกิดการทำงานและเรียนรู้ร่วมกันของชุมชน มีเวทีการพูดคุยหาต้นตอสาเหตุของปัญหา แนวทางป้องกัน และแก้ไขปัญหาได้ด้วยตัวชุมชนเอง ผลลัพธ์สุดท้ายที่ชุมชนจะได้รับ คือ ความสุขแบบพอดีตามวิถีพอเพียงของชุมชนนั้น ๆ และเป็นความสุขในนิยามของชุมชนเองเป็นความสุขที่แท้จริง เป็นความสุขที่จับต้องได้ ไม่ใช่ความสุขที่คิดคาดเดา

เอกสารอ้างอิง
โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ และคณะ.(2547). พลวัตสุขภาพกับการพึ่งตนเอง(ภาคชนบท). นนทบุรี:สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ.
กองเวชกรรมป้องกัน .(2552).   คู่มือการพยาบาลส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค.  สืบค้นเมื่อวันที่  9 มิถุนายน 2552 ,จาก http://www.nmd.go.th/preventmed/down
/pdf/data/anamai
          ปิยะธิดา นาคะเกษียร .(2552).การพัฒนารูปแบบการดูแลสุขภาพชุมชน พยาบาลแต่ละคนทำอะไรได้บ้าง.สืบค้นเมื่อวันที่  2  ตุลาคม 2552 ,จาก http://nursing.siam.edu
/data1/Gmail/community.doc
            รุ่งเรือง  กิจผาติ .(2552). การพัฒนาสุขภาพในมิติที่ขาดหายไป.สืบค้นเมื่อวันที่  20  ตุลาคม 2552 ,จาก http://www.cclts.org/health/health_nih/22.html
             อำพล จินดาวัฒนะ  และคนอื่น ๆ .(2549).การสังเคราะห์กลไกในระบบสุขภาพ
แห่งชาติและบทบาทหน้าที่ โครงสร้างกระทรวงสาธารณสุข.นนทบุรี. สถาบันวิจัยระบบ
สุขภาพ.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น